xs
xsm
sm
md
lg

ชงใช้ “น้ำมันยูโร 5” ช่วยลดฝุ่น 2.5 ไมครอนได้ถึงปี 2050 ชี้ กทม.ฝุ่นเยอะ ม.ค. - เม.ย.ทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้ กทม. มีปัญหาฝุ่นละอองเฉพาะช่วง ม.ค. - เม.ย.ของทุกปี ส่วนเดือนอื่นฟ้าโปร่งปัญหาฝุ่นน้อย เผยใช้น้ำมันและเครื่องยนต์สะอาดขึ้น ช่วยมลพิษและฝุ่นลดลงต่อเนื่อง แม้ฝุ่นยังเกินมาตรฐาน ย้ำต้องเปลี่ยนน้ำมันเป็น “ยูโร 5” ฝุ่นจะลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2050 ชงคุมรถบรรทุกเข้าออก กทม.ไปถึงเส้นวงแหวนรอoก ช่วง ก.พ. - เม.ย. ของทุกปี

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 1 หัวข้อ “ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันท้องฟ้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอยู่ 2 แบบ คือ 1. ช่วง ม.ค.- เม.ย. ท้องฟ้าจะไม่ใสเป็นสีฟ้าและมีหมอก เนื่องจากเป็นรอยต่อฤดูหนาวและฤดูร้อน โดย กทม.จะได้รับอากาศแห้งและเย็นมาจากทางเหนือ และอากาศร้อนชื้นจากทะเลมาปะทะกัน ทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำและลมร้อนชื้น แต่หากมีปริมาณฝุ่นละอองมาก ไอน้ำจะไปจับกับฝุ่นทำให้เกิดเป็นสีน้ำตาลคล้ำขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยสภาพอากาศดังกล่าวจะทำให้อากาศนิ่ง มีภาวะกดอากาศสูง การแพร่กระจายตัวของอากาศเป็นไปได้ยาก ประกอบกับมีภาวะตึกสูง ทำให้ฝุ่นสะสม ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงมักเพิ่มสูงในช่วงนี้ และ 2. ช่วงหลัง เม.ย.- ธ.ค. จะกลับมาเป็นฟ้าโปร่ง เนื่องจากอากาศไม่มีความชื้น แม้อากาศจะเย็นก็ตาม ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงนี้ก็จะลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งลักษณะอากาศของ กทม.จะเป็นเช่นนี้ทุกปี สำหรับแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองมาจากหลายแหล่ง ทั้งโรงงาน โรงไฟฟ้า การเผาไหม้ต่างๆ แต่มาจากการคมนาคมสูงสุด คือ 54%

“เมื่อดูจากสถิติย้อนหลังคุณภาพอากาศของ กทม. ถือว่ามีแนวโน้มลดลงทุกตัว ทั้งฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน หรือ PM10 ฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน กำมะถัน เป็นต้น แม้ปริมาณรถใน กทม.จะเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันและคุณภาพรถยนต์ที่ดีขึ้นมาตลอด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ “ยูโร 4” โดยคุณภาพน้ำมันที่ดีขึ้นจะช่วยลดการสร้างฝุ่นละอองและมลพิษ แม้จะนำมาใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าก็ตาม โดยพวกสารพิษต่างๆ ถือว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นฝุ่นละอองขนาดเล็กและโอโซน แม้จะลดลงแต่ก็ยังเกินมาตรฐานอยู่ อย่างฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน กรมควบคุมมลพิษตรวจครั้งแรกในปี 2554 พบว่า ค่าปริมาณฝุ่นละออง 2.5 ไมครอนสูงสุดที่ปี 2556 คือประมาณ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากนั้นก็ลดลงมาเรื่อย เนื่องจากปี 2555 มีการบังคับใช้เรื่องน้ำมันยูโร 4 และรถยนต์ยูโร 4 ที่ช่วยลดมลพิษ ส่วนปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีลดลงเหลือ 26 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีคือ 25 มคก./ลบ.ม.มาเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบแล้วถือว่าลดลงถึง 25% ส่วนปี 2561 ปริมาณฝุ่นก็ไม่ต่างจากปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ถือว่าน่ากังวลแต่ไม่ควรตื่นตระหนก” ดร.สุพัฒน์ กล่าว

ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ปริมาณฝุ่นละอองของ กทม. ไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ จากรถและน้ำมันที่สะอาดขึ้น การจราจรที่คล่องตัวขึ้นจากการมีการขนส่งระบบราง ดังนั้น ข้อเสนอมาตรการระยะยาวจึงเสนอให้มีการเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันให้ดีขึ้น เพราะหากยังไม่มีการเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันและรถยนต์ให้สะอาดขึ้นพบว่า หลังปี 2030 แนวโน้มของฝุ่นละอองขนาดเล็กใน กทม.จะเพิ่มขึ้น แต่หากเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันและเครื่องยนต์เป็น “ยูโร 5 หรือ 6” ก่อนปี 2030 แนวโน้มจะลดลงต่อไปจนถึงปี 2050 ซึ่งการคาดการณ์นี้คำนึงถึงปริมาณรถยนต์ที่จะเพิ่มในแต่ละปีแล้ว เนื่องจากค่ากำมะถันในน้ำมันจะลดลงไปอีก โดยยูโร 4 กำมะถันอยู่ที่ 50 ppm ยูโร 5 ก็จะเหลือเพียง 10 ppm หรือลดกว่า 80%

ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอมาตรการระยะสั้น คือ ช่วง ก.พ. - เม.ย. ของทุกปี ประมาณ 90 วัน เสนอให้ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ เช่น ขยายพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกเข้า กทม. จากรอยต่อปริมณฑลขยายไปถึงวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กป้ายทะเบียนสีเขียวเข้า กทม. ในชั่วโมงเร่งด่วน จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าเขต กทม.ตามทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่ เลขคี่ในวันคี่ รวมถึง กทม. และปริมณฑลออกประกาศจังหวัดห้ามเผาในที่โล่งในช่วงนี้ โดยเสนอเป็นมาตรการตามขั้นบันไดหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น และลดปริมาณการระบายมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิด เช่น จัดจราจรให้คล่องตัว ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายตั้งแต่ 06.00 - 21.00 น. ควบคุมการก่อสร้างในเขต กทม.ในเรื่องการฟุ้งกระจายของฝุ่น หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นให้โครงการก่อสร้างของรัฐปรับแผนก่อสร้าง เพื่อลดกิจกรรมการสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นในช่วง 3 เดือนนี้ หรือหากไม่ดีขึ้นอีกอาจเสนอให้ใช้เตาเผาศพโดยเตาไร้ควัน เป็นต้น

รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นและผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ. กล่าวว่า ร่างกายมนุษย์มีระบบในการกรองฝุ่นอยู่แล้ว ทั้งขนจมูก ในที่หลอดลม แต่กรองได้แค่ฝุ่นขนาดใหญ่กว่า 4.5 ไมครอน หากเล็กกว่านี้จะเข้าไปสู่ปอดได้ หากมีการสะสมก็จะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เพราะขัดขวางการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ซึ่งจากการวิจัยเมื่อปี 2541 ในผลกระทบของฝุ่นขนาด 10 ไมครอน พบว่า อาการป่วยระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเพิ่มขึ้น 3% ไอเพิ่มขึ้น 1.2% หอบหืดมีการเพิ่มใช้ยาขยายหลอดลมเพิ่มขึ้น 2.5% เกิดอาการหอบขึ้นเฉียบพลันเพิ่มขึ้น 3% และหอบจนต้องเข้า รพ. เพิ่มขึ้น 1.8 - 1.9% ส่งผลสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 35 - 88 พันล้านบาท และปี 2546 หรืออีก 5 ปีถัดมาพบว่าฝุ่น 10 ไมครอนมีผลต่อสุขภาพชัดเจน โดยอัตราการเสียชีวิตตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1.3% เสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจและหัวใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2% แม้จะดูน้อย แต่คนใน กทม. มีกว่า 10 ล้านคน ก็เท่ากับว่าเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นหมื่นคน และหากเป็นฝุ่น 2.5 ไมครอนก็าจจะส่งผลกระทบมากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น