รมว.สธ. เผย 2 ปี ความร่วมมือ “เขตสุขภาพ - โรงเรียนแพทย์” จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์คืบหน้า ย้ำ ทำโครงการให้ชัดอย่างน้อยเขตละ 1 เรื่อง เล็งกำหนดเป็นเคพีไอผู้ตรวจราชการฯ ด้าน รมช.ศธ. ย้ำ ความร่วมมือช่วยนำไปสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ แต่ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมพ่วงทำวิจัยต่อยอด
วันนี้ (14 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาพรวมของประเทศ (Excellence Center Sharing) ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการติดตาม ว่า หลังจากที่มีการลงนามความร่วมมือระบบบริการและการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ระหว่างเขตสุขภาพ สธ. กับ 20 คณะแพทยศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2559 มีการดำเนินการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งภาพรวมเท่าที่รายงานนับว่ามีความร่วมมือที่ดีขึ้นดี มีการพัฒนา ทั้งในด้านบริการ การผลิตและพัฒนาบุคลากร และด้านวิจัย เพียงแต่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นในการติดตามความคืบหน้า โดยกำหนดตัวชี้วัดว่า แต่ละโรงเรียนแพทย์ขอให้มีโครงการชัดเจนที่จะร่วมกับ สธ. และแต่ละเขตสุขภาพต้องมีโครงการที่ชัดเจนร่วมกับโรงเรียนแพทย์ เขตละ 1 เรื่อง โดยอาจจะต้องมีการหารือร่วมกันว่าภายในเขตสุขภาพนั้นจะดำเนินการความร่วมมืออะไรกับโรงเรียนแพทย์ โดยเลือกให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้การติดตามเรื่องความร่วมมือมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
“หากบอกแค่ด้านบริการ ด้านผลิตบุคลากร หรือด้านวิจัย แต่ไม่ได้กำหนดชัดลงไปว่าจะทำเป็นโครงการอะไร ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่สามารถติดตามผลความร่วมมือได้อย่างชัดเจน ซึ่งเท่าที่รายงานอย่างบางเขตก็มีการสะท้อนว่าไม่มีความต่อเนื่องของความร่วมมือ เพราะเปลี่ยนผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ผมจึงฝาก นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. ว่า ประเด็นความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์อาจต้องกำหนดให้เป็นเคพีไอของผู้ตรวจราชการ สธ. หรือไม่ เพราะความร่วมมือที่เกิดขึ้นบางครั้งมาจากความสนิทสนมส่วนตัวของระหว่างโรงพยาบาลเอง ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่ควรมาจากนโยบายที่ชัดเจน เมื่อมีการเปลี่ยนผู้ตรวจฯ ก็ยังสามารถเดินหน้าต่อได้” รมว.สธ. กล่าว
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เท่าที่ฟังรายงานข้อมูลของทั้ง 5 ภาคก็เห็นชัดว่ามีความเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในความร่วมมือระหว่างเขตสุขภาพและโรงเรียนแพทย์ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อ โดยจะขอสรุปใน 2 ประเด็น คือ 1. การพัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่สามารถทำให้ทุกที่เก่งที่สุด ดีที่สุดในทุกเรื่องได้ ดังนั้น การการทำงานเป็นคู่ความร่วมมือหรือเครือข่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะต้องมาร่วมมือกันช่วยเหลือกัน เพื่อแชร์ทรัพยากรทั้งคนและเครื่องใช้ ซึ่งตนมองว่ายังต้องพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้น และเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งตอนนี้มองว่าความร่วมมือยังเป็นลักษณะเหมือนขนมชั้น ที่แค่นำมาแปะๆ กันอยู่ ยังไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการที่แท้จริง ถือเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนากันต่อ หากร่วมมือกันได้จริง จะมีพลังมหาศาล ที่สำคัญ ทุกคนไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ใครเก่งอะไรก็ไปร่วมช่วยกันทำ ก็จะช่วยให้ยกระดับได้เร็วขึ้น
นพ.อุดม กล่าวว่า 2. การวางแผนและพัฒนากำลังคน ซึ่งถือเป็นปัญหาทั้งประเทศและต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่งจากการที่ตนมาอยู่ ศธ. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานด้านการสร้างทรัพยากรมนุษย์ก็พบว่า ไม่เคยมีการวางแผนการพัฒนาคน อย่างอนาคตข้างหน้าจะมีอาชีพไหนเกิดขึ้นบ้าง หลายหลักสูตรที่สอนหรืออาชีพที่มีอีกไม่กี่ปีจะหมดไป เพราะเลิกจ้าง หรืออย่างเราจะเปิดอีอีซีเน้นเรื่องระบบราง เรื่องของอากาศยาน เอาอู่ตะเภาเป็นฮับ การซ่อมเครื่องบินยังไม่มีช่างวิศวกรเครื่องบินเลย นั่นเพราะไม่เคยมีการวางแผนมาก่อน อย่างตอนนี้เรื่องอีอีซี หลายประเทศ หลายบริษัทอยากมาลงทุนเพราะเราให้ผลประโยชน์สูงมาก แต่ที่เขาถามมาแล้วเราตอบไม่ได้ก็คือ เรามีคนที่มีฝีมือมีทักษะช่วยเขาหรือไม่ เพราะเขาต้องการคนเป็นหมื่นๆ คน ถ้าจะเริ่มต้นวันนี้ มองว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถ้า สธ. จะช่วยวางให้ชัด วางแผนพัฒนาเรื่องของกำลังคนและการพัฒนา และยิ่งร่วม ศธ. ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ
“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยพัฒนาทุกอย่าง ส่วนการศึกษาที่จะต่อไปสู่ความเป็นเลิศนั้น ต้องเน้นเรื่องการสร้างองค์ความรู้ การทำวิจัย แล้วสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ จึงจะเป็นเลิศได้ ถ้าสร้างความรู้เองไม่ได้ก็จะเป็นเลิศไม่ได้ เรื่องนี้ทาง ศธ. ก็พยายามปรับความคิดของคนในกระทรวง ของครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ให้มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ ต่อยอดไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ดี ที่ดีเลิศแล้วใช้เป็นประโยชน์ประชาชนได้ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้ ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์และเขตสุขภาพของ สธ. ก็เช่นกัน จะเน้นเรื่องบริการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดำเนินงานวิจัยควบคู่ไปด้วย ซึ่งเมื่อได้องค์ความรู้ก็จะนำมาใช้พัฒนางานบริการให้ดีขึ้น รวมไปถึงการเรียนการสอนด้วย” นพ.อุดม กล่าว