xs
xsm
sm
md
lg

ศสช.ชูคณะกายภาพบำบัด ม.รังสิต ต้นแบบการศึกษาจากห้องเรียนสู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) เป็นตัวอย่างต้นแบบทางการศึกษา และถอดบทเรียนผ่านการผลิตสื่อ นำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนจากห้องเรียนสู่ชุมชน

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ได้คัดเลือกคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นตัวอย่างต้นแบบทางการศึกษาและถอดบทเรียนผ่านการผลิตสื่อ โดยมีการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนจากห้องเรียนให้มีการเรียนการสอนในชุมชนมากขึ้น

“ทาง ศสช. ได้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติในทุกปี โดยธีมของปีนี้จะพูดถึงเรื่อง Community Engagement การให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนการสอน โดยมี 2 โมเดล คือ ทางด้านการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา และด้านกายภาพเชิงรุก ได้แก่ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงพยาบาลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างต้นแบบดังกล่าว โดยทาง ศสช. ได้ติดตามถ่ายทำเป็นสารคดี และถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเพื่อนำเสนอต่อไป” ดร.วรชาติ กล่าว

ดร.วรชาติ กล่าวว่า คณะกายภาพจะเป็นต้นแบบการเรียนการสอน ตั้งแต่รับนักศึกษาเข้ามาเรียนชั้นปีที่ 1 - 4 จนกระทั่งเรียนในชุมชน ซึ่งกระบวนการของการเรียนนั้นจะไปสิ้นสุดที่ชุมชน และไปติดตามอีกที่หนึ่งคือ โรงพยาบาลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจะได้เห็นอีกมิติหนึ่งว่าเมื่อเรียนและลงชุมชนแล้ว การทำงานในชุมชนเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันทั้งหมดตั้งแต่การศึกษาจนถึงการทำงาน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานตามธีมของปีนี้ เนื่องจากสิ่งที่เป็นปัญหาในเรื่องของระบบสุขภาพคือ ความเหลื่อมล้ำในการได้รับการรักษาทางการแพทย์ และโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งทาง คสช. ก็พยายามจะทำให้ระบบการดูแลสุขภาพไปอยู่ที่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและลดความเหลื่อมล้ำในการรักษา

“สิ่งเหล่านี้จะทำให้วิชาชีพกายภาพบำบัดของเรามีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ที่สำคัญคือในสหวิชาชีพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ที่เกี่ยวข้องก็จะเห็นบทบาทของวิชาชีพกายภาพบำบัดมากขึ้น และเห็นการบริการที่เกิดขึ้นในชุมชนในมิติอื่นๆ รวมถึงมิติการส่งเสริมและป้องกัน มหาวิทยาลัยจะเป็นตัวชี้ประเด็นเรื่องแบบนี้ให้วิชาชีพอื่นมากขึ้น และเป็นการเปิดหน้างานให้แก่วิชาชีพอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบริการในชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ระบบบริการสุขภาพหันมาสนใจการบริการในชุมชน โดยเฉพาะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมและป้องกัน รวมถึงการฟื้นฟูคนไข้ที่ติดเตียงไม่สามารถเดินไปไหนได้แล้วยังสามารถเข้าถึงบริการได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นการจัดเรียนการสอนที่ตอบสนองและรับผิดชอบต่อสังคม ตามปณิธานของสังคมธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย” คณบดีคณะกายภาพบำบัด กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น