สสส. เผยผลวิจัย 10 ปี บังคับใช้ กม. คุมน้ำเมา พบขายที่ห้ามจำหน่ายลดลง เว้น “หอพัก” ลักลอบขายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีสูงขึ้น ส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม - โฆษณาทางสื่อหลักลดลง แต่หันมาพึ่งโซเชียลมีเดีย - ร้านค้ามากขึ้น ชี้ ทศวรรษที่ 2 ต้องเข้ม 3 เรื่อง ขายน้ำเมา “หอพัก - เด็กต่ำกว่า 20 ปี” โฆษณาโซเชียลมีเดีย
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา “1 ทศวรรษแห่งการปกป้องสังคมและสุขภาพ” ในกิจกรรม “1 ทศวรรษ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การปรับปรุงกลยุทธ์ในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เท่าทันสถานการณ์มากขึ้นนั้น ต้องมาวิเคราะห์ก่อนว่าที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเรื่องใดและยังไม่ได้ผลในเรื่องใด ซึ่งศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้สำรวจการบังคับใช้กฎหมายในประเด็นต่างๆ คือ 1. การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามจำหน่ายตามมาตรา 27 ประกอบด้วย ศาสนสถาน โรงเรียน สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ราชการ หอพัก ปั๊มน้ำมัน และสวนสาธารณะ พบว่า ในปี 2551 ในรอบ 3 เดือนมีผู้ที่เคยไปซื้อสถานที่ห้ามจำหน่ายเองถึง 21% ปี 2553 ลดลงเหลือ 8% และปี 2561 ลดลงเหลือ 4% หรือในรอบ 10 ปี สถานการณ์ดีขึ้นถึง 81% อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มจะลดลง แต่เมื่อพิจารณาแยกรายสถานที่พบว่า “หอพัก” สถานการณ์ยังลดลงไม่มาก โดยปี 2551 มีการซื้ออยู่ที่ 7.7% ปี 2553 เหลือ 4.9% และปี 2561 เหลือ 2.3% ทั้งที่สถานที่อื่นลดลงเหลือไม่ถึง 1% เรียกว่าหอพักยังมีปัญหาหรือมีการฝ่าฝืนมากที่สุด
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า 2. การขายให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี พบว่า ปี 2551 เคยซื้อและซื้อได้ 83% ปี 2553 ซื้อได้ 92.5% และปี 2561 ซื้อได้ 88% ส่วนเยาวชนที่ไม่เคยซื้อ ปี 2551 มี 57% ปี 2553 มี 73% และปี 2561 คือ 73% จากสถานการณ์นี้บ่งบอกว่า เยาวชนอายุน้อยร่วมมือไม่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นในช่วงแรกและทรงตัวมาตลอด แต่ร้านค้าฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการจำหน่ายให้แก่เด็กยังมากขึ้นมากกว่าเดิม 3. ประเด็นการส่งเสริมการขายพบว่า ลดลง โดยปี 2551 เคยพบเห็น 23% ปี 2553 ลดลงเหลือ 16% และปี 2561 ลดลงเหลือ 13% และ 4. การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ปี 2551 เคยพบ 53% ปี 2553 เคยพบ 36% และปี 2561 เคยพบ 39% สะท้อนว่า การรับรู้โฆษณาน้อยลง แต่กำลังเพิ่มมากขึ้น เมื่อแยกพิจารณาตามรายสื่อพบว่า ในสื่อหลัก ทั้งโทรทัศน์ ป้ายกลางแจ้ง สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุนั้น แนวโน้มการพบเห็นลดลง แต่ที่เป็นปัญหาคือ สื่ออินเทอร์เน็ตและร้านค้ามีการพบเห็นมากขึ้น โดยสื่ออินเทอร์เน็ตปี 2551 พบโฆษณา 3.8% ปี 2553 ลดลงเหลือ 3% แต่ปี 2561 กลับพุ่งขึ้นมาถึง 8.9% เรียกว่าเพิ่มขึ้นมาถึง 134% ขณะที่ร้านค้าปี 2551 พบ 15% ปี 2553 เหลือ 9.5% และปี 2561 เพิ่มขึ้นมาเป็น 15% เหมือนเดิม
“นอกจาก 4 ประเด็นหลักแล้ว ยังพบว่า ประเด็นเรื่องความสะดวกในการไปซื้อ พบว่า ใช้เวลาในการเดินทางไปซื้อ 1 - 5 นาที มีแนวโน้มลดลง แปลว่า ผู้คนใช้ระยะเวลาในการไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานขึ้น เช่นเดียวกับการใช้ระยะเวลาไปนั่งดื่มก็ใช้เวลานานขึ้นเช่นกัน รวมถึงประชาชนเห็นโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่เห็นความจำเป็นของกฎหมายลดลง จากข้อมูลสถานการณ์ทั้งหมด สรุปได้ว่า การขับเคลื่อนในทศวรรษที่ 2 ของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นหลัก คือ การจำหน่ายในหอพัก การจำหน่ายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และการโฆษณาเครื่องดื่มทางอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ที่ต้องหามาตรการในการควบคุมเรื่องนี้มากขึ้น” นพ.บัณฑิต กล่าว