xs
xsm
sm
md
lg

ทวงคืน “5 โบราณวัตถุไทย” ในสหรัฐฯ เปิดหลักฐานชัดมีแหล่งกำเนิดในไทยจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดหลักฐานชัด “5 โบราณวัตถุ” ปราสาทเขาพนมรุ้ง -
ปราสาทพิมาย ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ มีแหล่งกำเนิดในไทยจริง ทั้งเสาติดผนัง 2 ชิ้น ทับหลังกุมภกรรณสู้กองทัพวานร ประติมากรรมรูปม้า และทับหลังบุคคลเหนือแนวหงส์ เตรียมส่งข้อมูลเป็นหลักฐานติดตามกลับประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธาน ได้พิจารณาโบราณวัตถุที่จะติดตามเพิ่มเติม จำนวน 24 รายการ โดยพบว่ามีหลักฐานยืนยันว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 23 รายการ โดยเห็นชอบให้ส่งข้อมูลและหลักฐานเพื่อติดตามกลับสู่ประเทศไทย โดยในส่วนขององค์ประกอบโบราณสถานของไทย จำนวน 5 รายการ มีการเปิดเผยหลักฐานว่ามีแหล่งกำเนิดในไทย ดังนี้
เสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน และภาพจำลองการนำมาติดตรงช่องว่างโคนเสา
1. เสาติดผนัง แสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มีรูปบุคคลขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแหล่งข้อมูลปรากฏในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503 - 2504 ของกรมศิลปากร หนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” ของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2510 และหนังสือ “ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ของหม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2531 โดยผลการศึกษา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลดังนี้

ลวดลายของเสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีลักษณะและองค์ประกอบของภาพคล้ายกับเสาประดับผนังด้านอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ของปราสาทพนมรุ้ง คือ มีรูปแบบศิลปะบาปวนและแบบนครวัดผสมผสานกัน ลำตัวเสาสลักเป็นลายก้านต่อดอกซึ่งมีขีดสองขีดแบ่งก้านออกเป็นสามส่วน อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบบาปวน และส่วนโคนเสาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบนครวัด นอกจากนี้ กรอบของเสาทั้งสองข้างยังมีแนวลายเล็กๆขนาบอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเหมือนกับเสาติดผนังต้นอื่นๆ ของปราสาทพนมรุ้ง และขนาดของเสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา สัมพันธ์กับขนาดของเสาติดผนังด้านทิศตะวันออกประตูมณฑปด้านเหนือปราสาทพนมรุ้ง สามารถต่อเข้ากันได้พอดีกับส่วนที่ยังคงเหลืออยู่
2 ภาพแรกคือ เสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย และภาพถ่ายเก่าเสาติดผนังที่ปราสาทพนมรุ้ง ส่วน 2 ภาพหลังคือการทดลองนำชิ้นส่วนมาติดตรงช่องว่างที่โคนเสาด้วยคอมพิวเตอรืกราฟิก
2. เสาติดกับผนัง แสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มือขวาอยู่ในท่าคล้ายหลั่งทักษิโนทก ให้แก่บุคคลที่นั่งคุกเข่า ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแหล่งข้อมูลปรากฏอยู่ในรายงานและหนังสือทั้ง 3 เล่ม เช่นเดียวกับเสาติดผนังชิ้นแรก โดยผลการศึกษา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง ด้วยเหตุผลคือ รูปแบบศิลปะของเสาติดผนังดังกล่าว มีลักษณะและองค์ประกอบของภาพคล้ายกับเสาประดับผนังด้านอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ของปราสาทพนมรุ้ง คือ มีรูปแบบศิลปะบาปวนและแบบนครวัดผสมผสานกัน ลำตัวเสาสลักเป็นลายก้านต่อดอกซึ่งมีขีดสองขีดแบ่งก้านออกเป็นสามส่วน อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบบาปวน และส่วนโคนเสาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบนครวัด ขณะที่กรอบของเสาทั้งสองข้างยังมีแนวลายเล็กๆ ขนาบอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเหมือนกับเสาติดผนังต้นอื่นๆ ของปราสาทพนมรุ้ง

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าของเสาติดผนังก่อนที่จะหายไปในเอกสารต่างๆ และขนาดของเสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ตรงกับขนาดของเสาติดผนังด้านตะวันตกของประตูมณฑปด้านเหนือ ปราสาทพนมรุ้ง และเมื่อทดลองนำภาพชิ้นส่วนเสาติดผนังไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ว่างของเสาที่ปราสาทพนมรุ้ง พบว่าสามารถเชื่อมต่อเข้ากันได้พอดี
ความสูงของทับหลังสลักภาพเล่าเรื่องรามายณะตอนกุมภกรรณต่อสู้กับกองทัพวานร พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย มีขนาดเท่ากับพื้นที่ว่างบริเวณเหนือกรอบประตูของมณฑปปราสาทประธานด้านใต้ ปราสาทพนมรุ้ง
3. ทับหลังแสดงภาพเล่าเรื่องรามายณะ ตอนกุมภกรรณต่อสู้กับกองทัพวานร ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่าอาจเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง หรือปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ด้วยเหตุผลดังนี้ รูปแบบศิลปกรรม ได้แก่ การแต่งกายและเครื่องประดับ รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบของภาพ เป็นลักษณะของศิลปะที่ปรากฎบนปราสาทหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ พิมาย พนมรุ้ง จัดอยู่ในศิลปะบาปวน -นครวัด ขณะที่ขนาดความสูงของทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย สามารถเข้ากันได้พอดีกับขนาดพื้นที่ว่างเหนือกรอบประตูของมณฑปปราสาทประธานด้านทิศใต้ (สูง 88.9 เซนติเมตร)
(ซ้าย) ประติมากรรมรูปม้า ยาว 74 ซม. กว้าง 26.7 ซม. พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (ขวา) ประติมากรรมรูปกระบือ  ยาว 72 ซม. กว้าง 27 ซม. พบที่ปราสาทพนมรุ้ง
4. ประติมากรรมลอยตัวรูปม้า (เทพพาหนะ) มีเครื่องประดับที่คอ หลัง และขาทั้งสี่ ม้าเป็นพาหนะของพระวายุ เทพผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย โดยปรากฏแหล่งข้อมูลในนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย. กรมศิลปากร. 2542. และปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. 2531. ผลการศึกษาพบว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง ด้วยเหตุผลดังนี้ ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าในหนังสือ “ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่าเป็นประติมากรรมที่นำไปจากปราสาทพนมรุ้ง

นอกจากนี้ จากการขุดแต่งปราสาทพนมรุ้ง โดยกรมศิลปากร ได้พบประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ ที่เป็นสัตว์พาหนะของเทพประจำทิศ เช่น โค ช้าง ระมาด กระบือ หงส์ คชสีห์ ประติมากรรมเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบทางศิลปกรรม พบว่ารูปแบบลวดลายเครื่องประดับของประติมากรรมรูปม้า มีลักษณะเหมือนกับประติมากรรมรูปสัตว์อื่นๆ ที่ได้จากปราสาทพนมรุ้ง และลักษณะของเนื้อหินยังเป็นชนิดเดียวกันอีกด้วย รวมถึงขนาดและสัดส่วนของประติมากรรมรูปม้า มีขนาดใกล้เคียงกันกับประติมากรรมรูปสัตว์อื่นๆ ที่ได้จากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
(บน) ทับหลังแสดงภาพรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ (ล่าง) ทับหลังที่พบในปราสาทพิมายที่มีลักษณะแบบเดียวกัน
และ 5. ทับหลังแสดงภาพรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ โดยทับหลังสลักภาพแบ่งเป็น 2 แนว แนวบนสลักภาพบุคคลประทับนั่งอยู่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยบุคคลฟ้อนรำ แนวล่างเป็นแถวรูปหงส์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย โดยปรากฏแหล่งข้อมูลในกลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยผลการศึกษาพบว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพิมาย ด้วยเหตุผลคือ ทับหลังดังกล่าวมีรูปแบบศิลปะและอายุสมัยตรงกับอายุของปราสาทพิมาย และลวดลายบนทับหลัง เป็นลักษณะเดียวกันกับทับหลังที่พบจากปราสาทพิมาย เช่น ลักษณะการแต่งกาย การจัดวางองค์ประกอบบนทับหลังที่มีการแบ่งภาพออกเป็น 2 ตอน ตอนบนสลักรูปบุคคล และตอนล่างสลักเป็นแนวของหงส์ ทับหลังลักษณะนี้ได้ค้นพบอยู่หลายชิ้นที่ปราสาทพิมาย ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น