xs
xsm
sm
md
lg

Serve Responsibly “ดื่ม-ขาย” อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นักดื่ม - นักขาย” ต้องรู้ทันกฎหมาย! “ไทยเบฟ - มปอ.” เปิดเวทีสัมมนา “Serve Responsibly ครั้งที่ 4” สร้างสำนึกผู้ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “ดื่ม - ขาย” อย่างไรให้ปลอดภัยพร้อมรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านมุมมอง “ผู้ประกอบการ - หมอ - ตำรวจ” ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง

“สุรพล อุทินทุ” ผู้อำนวยการสำนักประสานงานภายนอก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ Serve Responsibly ครั้งที่ 4 โดยมุ่งหวังในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และรณรงค์ให้ผู้ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพ-ความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด!

“ดื่ม” ได้ แต่ต้อง “ปลอดภัย”

“กฎหมายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ ใครจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเอง จึงจำเป็นต้องมีความรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ร่วมกันรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองในระดับสังคมได้นั่นเอง”

“ชูศรี ประเสริฐสิน” ผู้จัดการสำนักนิติการ สำนักกฎหมาย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยให้เห็นความสำคัญของกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Local Laws and Self-Regulation) ผ่านงานสัมมนา “การอบรมเชิงปฎิบัติการ Serve Responsibly” ครั้งที่ 4

ภายในงานมีการให้ความรู้และกระตุ้นเตือนความผิดชอบร่วมกันของสังคม ระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ซึ่งถือว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อ - ขาย - ดื่ม - จำหน่าย อย่างเห็นได้ชัด

“ตามหลักพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีทั้งการควบคุมการขาย เช่น วัน-เวลา สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่เวลา 11.00 - 14.00 น.และ 17.00 - 24.00 น. สำหรับวันที่ห้ามขาย คือ วันสำคัญทางศาสนาและช่วงก่อนวันเลือกตั้ง

แน่นอนว่า เรื่องสถานที่ขายแอลกอฮอล์ได้ถูกกำหนดไว้เช่นเดียวกัน ว่า วัด ร้านค้า สถานศึกษา โรงงาน บนทางจราจร สวนสาธารณะ และอื่นๆ ยกเว้นร้านค้าที่อยู่ในสนามบินสามารถซื้อขายบริการได้ หรือสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเรื่องสถานบริการ

ด้านผู้ประกอบการเอง ต้องศึกษาข้อบังคับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดี เช่น ห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมายของเครื่องดื่ม หรือการอวดอ้างสรรพคุณ - ชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงและโดยอ้อม ห้ามนำเครื่องดื่มมาแลก แจก จ่าย เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนการขาย

“ที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องสอบถามข้อมูลพื้นที่ที่ต้องการให้บริการด้วยว่าอยู่ในเขตโซนนิ่งหรือไม่ เพราะโซนนิ่งไม่ได้คิดตามระยะทาง แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทางพื้นที่และจังหวัด นี่จึงเป็นข้อสำคัญที่ผู้ประกอบการควรศึกษาให้ดีก่อนเปิดสถานบริการ” ชูศรี ประเสิรฐสิน กล่าว

สอดคล้องกับด้าน “พ.ต.ท. เขมรินทร์ พิสมัย” รอง ผกก.สืบสวน สน.ห้วยขวาง ได้สะท้อนภาพใหญ่ผ่านมุมมอง “การขาย - ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ” ผ่านเวทีสัมมนาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

โดยมีการเปิดเผยสถิติอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของคนไทยว่าเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินที่กฎหมายกำหนด

“ข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดอันดับหนึ่งของประชากรประเทศไทย คือ การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับหนึ่ง คือ ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่สังคมควรกระตุ้นเตือน คือ การทำหน้าที่ในระดับที่ไม่เพียงแต่การรับผิดชอบตัวเราเอง แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมและศีลธรรมด้วยเช่นกัน”

จากการตรวจสอบข้อมูลปริมาณแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อลูกค้า พบว่า การมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะส่งผลให้นักดื่ม ลุกขึ้นเต้น พูดเสียงดัง สนุกสนานร่าเริงกว่าปกติ สำหรับผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเริ่มมือไม้อ่อน ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดีเท่าภาวะปกติ

หากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะพบว่า นักดื่มเริ่มง่วงซึม เดินเอียง และอาเจียนอย่างรุนแรง สุดท้าย หากปล่อยให้นักดื่มมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้!”

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ด้าน “พ.ต.ท.เขมรินทร์ พิสมัย” และ “ชูศรี ประเสิรฐสิน” ออกมากระตุ้นเตือนสังคมต่อความรับผิดชอบ ผ่านเวทีสัมมนาในครั้งนี้ อีกทั้งยังมีการเผยแนวทางปฏิบัติเพื่อการขายอย่างมีความรับผิดชอบด้วยว่า

“เมื่อลูกค้าหรือนักดื่มเริ่มดื่มหนักขึ้น ผู้ให้บริการสามารถชะลอการดื่ม ด้วยการขั้นด้วยอาหารหรือของว่างแทนที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากประเมินท่าทีนักดื่มแล้ว พบว่า มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้แล้ว ผู้ขายสามารถยุติให้การบริการได้เช่นกัน”

เสิร์ฟเหล้า = จ่ายยา จริงหรือ?!

แม้ในมุมมองของผู้ให้ความรู้ทางกฎหมายและผู้รักษากฎหมาย จะชี้ให้เห็น “โทษ” ที่ตามมามากมายของการให้บริการและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร้ความรับผิดชอบ แต่ทุกสิ่งบนโลกในนี้มี 2 ด้านเสมอ นั่นหมายความว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ก่อให้เกิดโทษเสมอไป

หากจะเปรียบเทียบการดื่มเหล้ากับการกินยา ก็ดูจะเป็นคนละเรื่อง เพราะในความรู้สึกของคนทั่วไป เหล้าคืออบายมุข - สิ่งไม่ดี ส่วนยา คือ หนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์

แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทุกสิ่งบนโลกนี้มี 2 ด้านเสมอ การดื่มเหล้าในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐาน ก็กลายเป็นประโยชน์ได้ เช่นเดียวกันกับการกินยา หากกินยาที่เกินขนาด ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก นพ.พิธาน วงศ์ธนพรเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้าน General Practitioner รพ.บางปะกอก 8 กล่าวถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ที่เหมาะสม และประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ Mayoclinic สถาบันทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา

กล่าวถึงข้อดีของการดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดโอกาสการเป็นโรคสมองเสื่อม ลดโอกาสเป็นเบาหวาน ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และช่วยเพิ่มอายุขัย อีกทั้งงานวิจัยยังบอกไว้ว่า ผู้ที่ดื่มเหล้าปริมาณปานกลาง ยังทำให้สุขภาพดีกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเหล้าด้วย

แต่ก่อนที่จะดื่มแอลกอฮอล์ให้เกิดประโยชน์นั้น จำเป็นต้องรู้ปริมาณการดื่มด้วย โดยปริมาณการดื่มเรียกว่า ดื่มมาตรฐาน หรือ Standard Drink ซึ่ง 1 ดื่มมาตรฐานคือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ผสมอยู่ 10 กรัม เป็นปริมาณที่ตับ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการขับออก โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ดังนี้

• เบียร์ หรือเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก หรือ 330 มิลลิกรัม
• ไวน์ มีแอลกอฮอล์ 11 - 13% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานอยู่ที่ 1 แก้ว หรือ 100 มิลลิลิตร
• วิสกี้หรือวอดก้า มีแอลกอฮอล์ 40 - 43% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานอยู่ที่ 3 ฝา หรือ 30 มิลลิลิตร

สำหรับผู้ชาย เฉลี่ยน้ำหนักตัวประมาณ 70 กิโลกรัม ขนาดการดื่มที่ดีคือ 15 ดื่ม/สัปดาห์ และใน 1 วันไม่ควรดื่มเกิน 4 ดื่มมาตรฐาน ส่วนผู้หญิง เฉลี่ยน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม ขนาดการดื่มที่ดีคือ 10 ดื่ม/สัปดาห์ และใน 1 วัน ไม่ควรดื่มเกิน 2 ดื่มมาตรฐาน

“ขนาด 15 ดื่มมาตรฐาน/สัปดาห์ ตัวเลขนี้เอามาจากต่างประเทศที่เขาวิจัยกับคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป ยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างขอเชื้อชาติเพราะในอเมริกาเขาก็มีเชื้อชาติที่หลากหลายอยู่แล้วครับ เป็นปริมาณที่ร่างกายขจัดออกได้ดี แล้วจะส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนอะไรบางอย่าง

ตรงนี้ทำให้ได้ประโยชน์ตามที่ผมบอกไป ลดเบาหวาน ลดนิ่วในถุงน้ำดี ดีต่อสมอง ส่วนเรื่องการทำให้ร่างกายอบอุ่น เราต้องดูที่ปริมาณ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่จะทำให้หลอดเลือดขยาย รู้สึกอบอุ่นมันแค่ช่วงแรกเท่านั้น

งานวิจัยเขาเปรียบเทียบคนที่ดื่มปานกลางกับคนที่ไม่ดื่มแล้วตัวเลขมันออกมาเป็นแบบนั้น แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ดื่มจะอายุสั้นกว่านะครับ ต้องมองภาพกว้างๆ มันยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณออกกำลังกาย คุณควบคุมอาหารการกิน

ถ้าคุณอยากลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน คุณไม่ต้องดื่มเหล้าก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย คุณก็ได้เท่าเดิม ไม่ใช่ว่าเหล้าเป็นอย่างเดียวที่ทำให้คุณสุขภาพดี อายุยืนขึ้น มันไม่ใช่ แต่เราแค่ยกตัวอย่างว่างานวิจัยมันเป็นแบบนี้ เท่านั้นเองครับ”

สุดท้าย นพ.พิทาน ได้ฝากถึงนักดื่มทั้งหลาย ว่า หากคิดจะดื่มก็ดื่มได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย “ประเด็นคือถ้าเราจะให้สังคมมองด้านดี ต้องเอาไปทั้งหมดนะ อย่าเอาไปแค่ด้านเดียว จะบอกว่าดื่มเหล้าแล้วทำให้อายุยืนขึ้น ผมว่ามันอันตรายกว่ายิ่งกว่าไม่รู้ความจริงอีก

คุณจะดื่มเหล้าแล้วให้อายุยืนขึ้น ต้องดื่มในมาตรฐานที่เหมาะสม สุขภาพดีในมาตรฐานที่เหมาะสม ต้องใส่คำว่าดื่มมาตรฐานไปด้วย ก็เหมือนคนชอบกินเค้ก กินพิซซ่า ร่างกายก็ไม่ได้สิ่งที่ดีถ้ากินมากเกิน แต่ถ้าจะเคร่งครัด ดื่มเพื่อสุขภาพ คุณต้องเอาขนาดดื่มมาตรฐานไปใช้ แล้วก็ให้รู้ว่าข้อเสียของมัน ผลที่ตามมาไม่ใช่แค่ตัวเอง

มันเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ในเรื่องของการดื่มทำให้มีเรื่องทะเลาะกับคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุกับคนรอบข้าง ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทำไมเราถึงเสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับคนที่มีสติสัมปชัญญะที่ดี มีอายุที่มากขึ้นหน่อย ไม่ใช่เด็ก เพราะเราหวังว่าผู้ดื่มต้องคิดก่อนดื่มครับ”

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น