เพจคาเฟ่เบียร์สด ใช้รูป “น้องปัญ BNK48” ทำโปรโมชัน โชว์รูปลด 10% เต้นคุกกี้เสี่ยงทายได้จบรับฟรีทั้งโต๊ะ กรมควบคุมโรคเร่งตรวจสอบ เล็งเชิญเจ้าของเพจ เจ้าของร้าน พร้อมน้องปัญ BNK48 ให้ข้อมูลเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ หากผิดจริงเอาผิดฐานโฆษณาน้ำเมา พร้อมเปิดตัวแอปฯ รับเรื่องร้องเรียนการกระทำผิดด้านบุหรี่และเหล้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจร้านคาเฟ่เบียร์สดแห่งหนึ่ง ใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้โพสต์รูปภาพ น้องปัญ วง BNK48 หรือ น.ส.ปัญสิกรณ์ ติยะกร พร้อมระบุข้อความในลักษณะเชิงโฆษณาส่งเสริมการขาย โดยระบุว่า เป็นโปรโมชันทุกวันเสาร์ หรือ Saturday Night Party Promotion เพียงโชว์รูปน้องปัญ BNK48 รับส่วนลดทันที 10% หรือหากเต้นเพลงคุกกี้เสี่ยงทายได้จนจบเพลงรับเบียร์สดฟรีทั้งโต๊ะ โดยสงวนสิทธิ์เฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งน่าจะเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
วันนี้ (31 ม.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 ฝ่าย คือ 1. เจ้าของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว 2. เจ้าของร้านดังกล่าว และ 3. ตัวศิลปินที่ปรากฏในภาพโฆษณา โดยหลังจากรับเรื่องนี้แล้วจะให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณาว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ หากเข้าข่ายก็จะพิจารณากล่าวโทษ พร้อมออกหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่ายเข้ามาชี้แจงว่าดำเนินการจริงหรือไม่ เนื่องจากการโพสต์รูปภาพ หรือข้อความเช่นนี้ในสังคมออนไลน์ อาจเป็นเจ้าตัวดำเนินการเองหรือมีผู้อื่นแอบอ้างดำเนินการก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อกล่าวโทษแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่ากระทำความผิด แต่เป็นการกล่าวโทษเพื่อให้เข้ามาชี้แจงและตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกับการเผยแพร่ข้อมูลลักษณะนี้หรือไม่
“อย่างศิลปินที่อยู่ในโพสต์ดังกล่าวก็ต้องเข้ามาชี้แจงให้ได้ว่า มีหรือไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับโพสต์ดังกล่าว เนื่องจากอาจถูกแอบอ้างมาใช้ในการโฆษณาหรืออาจมีการสมยอมก็ได้ ซึ่งตรงนี้ต้องเข้ามาชี้แจง อย่างไรก็ตาม สำหรับการพิจารณาความผิดหลักๆ คงเป้นเรื่องการกระทำผิดฐานโฆษณา” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การโพสต์รูปภาพหรือข้อความเชิญชวนในลักษณะเช่นนี้ จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากเป็นการโพสต์ในสังคมออนไลน์ ไม่ได้เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะลงไปเก็บข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน โดยจะมีการตรวจสอบสถานที่และร้านดังกล่าว ว่า เป็นเจ้าของเพจจริงหรือไม่ เป็นผู้โพสต์เองหรือไม่ จากนั้นจึงจะมีการเชิญศิลปินมาให้ข้อมูลว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งหากไม่เกี่ยวข้องก็ต้องแสดงหลักฐานให้เห็นชัดเจน หรือคนดูแลศิลปินมีการเปิดช่องให้บุคคลอื่นแอบอ้างนำรูปไปใช้หรือไม่ ตรงนี้ก้ต้องมาแสดงข้อมูลหลักฐานกัน
“ที่ผ่านมา เมื่อพบเคสศิลปินดาราเกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายก็มักพบว่ามีความเชื่อมโยง ซึ่งเคสดาราหลายคนก่อนหน้านี้ต่างก็ยอมรับและจ่ายค่าปรับกันไปเกือบหมดแล้ว ส่วนเคสนี้หลังกล่าวโทษก็คงต้องมาชี้แจงและแสดงหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ประเด็นคนมีชื่อเสียงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่เมื่อจ่ายค่าปรับก็จบ แต่ในอนาคตอยากให้มีการส่งฟ้องศาลเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาว่าการกระทำเช่นนี้มีความผิดทางอาญา แต่ที่ผ่านมาเมื่อศิลปินพบว่าหลักฐานแน่นหนา ผิดชัดเจนก็มักจะยอมรับและจ่ายค่าปรับ เพื่อไม่ให้เป็นคดีความ เพราะอย่างไรก็แพ้ แต่กรณีหลักฐานไม่ชัดส่วนใหญ่ก็จะส่งฟ้องศาล” นพ.นิพนธ์ กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS)” ขึ้น เพื่อรับเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีความสะดวกรวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ ไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ 24 ชั่วโมง แต่ระบบนี้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถเก็บหลักฐานในการเอาผิดได้แม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถส่งรูปและสถานที่มาทางระบบนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลที่สามารถรู้ถึงพื้นที่และปัญหา ทำให้ในพื้นที่สามารถนำมาแก้ปัญหาต่อไปได้