กรมวิทย์ดึง 4 ผลวิจัยร่วมญี่ปุ่น ใช้ประกอบวินิจฉัย รักษาวัณโรค ทั้งการตรวจเลือดประเมินยีนแสดงการติดวัณโรค ตรวจระดับยาต้านและพันธุกรรมเพื่อปรับระดับให้เหมาะสม และถอดรหัสพันธุกรรมประเมินวัณโรคดื้อยา
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง นวัตกรรมการวิจัยและ พัฒนาเพื่อกลยุทธ์ยุติวัณโรค “Innovative Interventions and Researches for End TB Strategy 2018”
นพ.สุขุม กล่าวว่า สธ. มีนโยบายสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยต่อยอดพัฒนามาใช้ในการตรวจรักษา เพื่อยุติปัญหาวัณโรคเนื่องจากประเทศไทยในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาอย่างน้อย 2,200 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ทั้งที่คนไทยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ตามระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวในการวิจัยด้านวัณโรคและได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากไจก้า (JICA) และองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โปรแกรม SATREPS โครงการ Integrative Application of Host and Genomic Information for Tuberculosis Elimination ซึ่งวิจัยและพัฒนาจนได้นวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ประกอบด้วย
1. การตรวจเลือด เพื่อประเมินการแสดงออกของยีนที่ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค 2. วิธีตรวจระดับยาต้านวัณโรค เพื่อประเมินขนาดยาต้านวัณโรค ให้เหมาะสม 3.การตรวจพันธุกรรมเพื่อปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรม และ 4. การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อการประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค โดยภายในปีงบประมาณ 2561 นี้ ทางศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดให้บริการการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคทั้งจีโนมด้วยเทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมสมรรถนะสูง เพื่อประเมินภาวะดื้อยาและติดตามการระบาดของวัณโรค เพื่อช่วยสนับสนุนการควบคุมการระบาดของวัณโรค