xs
xsm
sm
md
lg

แฉนายจ้างฉวยโอกาส “โรงเรียนในโรงงาน” จ้างเด็กอาชีวะไร้สวัสดิการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองประธาน คสรท. เข้าพบ “บิ๊กอู๋” หารือปัญหาแรงงาน แฉนายจ้างฉวยโอกาสโครงการ “โรงเรียนในโรงงาน” จ้างเด็กอาชีวะแบบไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือ พบมากในอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ย้ำจุดยืนขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ปรับเป็นค่าจ้างแรกเข้า ด้าน รมว.แรงงาน เผยปรับขึ้นค่าจ้างเข้า ครม. วันที่ 30 ม.ค.

วันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.45 น. นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งประเทศไทย (คสรท.) เดินทางมาพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยลำพังเพื่อหารือกรณีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ ส่วนที่มีการแจ้งหมายว่าจะมีการหารือเรื่องทบทวนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตัวแทน คสรท. ที่ดูแลประเด็นนี้ไม่ได้เดินทางมา จึงหารือแค่เพียงแรงงานสัมพันธ์ แต่ระหว่างการหารือ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้สอบถามประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเอง

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือกันเรื่องการดูแลแรงงานในภาพรวม แต่ด้วยความเป็นห่วง จึงได้สอบถามถึงประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทางนายชาลี ได้บอกจุดยืนว่า ไม่ได้คัดค้าน แต่เสนอว่าขอให้เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งก็รับฟัง สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5 - 22 บาท นั้น อาจจะกระทบต่อสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก จริงๆเป็นระยะแรก แต่รัฐบาลก็มีมาตรการในการช่วยเหลือ อย่างเรื่องการลดหย่อนภาษี โดยทางกระทรวงการคลังจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนข้อกังวลเรื่องการลดจ่ายเงินสมทบนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ยังไม่มีการดำเนินการ โดยในการประชุม ครม.วันที่ 30 ม.ค.นี้ ตนจะเสนอประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น สำหรับข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างค่าจ้างรายปี โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องของการจ้างงานแรกเข้า และจากนั้นให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างค่าจ้างรายปีนั้น เป็นข้อเสนอที่ตนพร้อมจะรับไว้และให้ทางคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 พิจารณาต่อไป

ด้าน นายชาลี กล่าวว่า ตนมาเข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือด้านแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจากมีปัญหามาก และเคยทำหนังสือส่งมาแล้ว แต่กลับไม่มีการตอบรับ แต่ครั้งนี้ปรากฏว่า รัฐมนตรีมีความใส่ใจและรับดูแลปัญหาที่เกี่ยวกับลูกจ้าง ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่ค้างคามานานกว่า 5 ปีแล้ว คือ โครงการโรงเรียนในโรงงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสถานประกอบการต่างๆ ให้เด็กอาชีวะเข้าไปฝึกงานและเมื่อฝึกเสร็จก็มีโอกาสได้งานทำ ถือเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ปัญหาคือ มีนายจ้างบางแห่งฉวยโอกาส โดยตนได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่า มีนายจ้างหลายแห่งให้เด็กอาชีวะมาฝึกงาน แต่กลับให้ทำงานจริงๆ และให้ค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และยังให้ทำโอที ปัญหาคือ นายจ้างเหล่านี้หันมาจ้างกลุ่มเด็กนักเรียนมากขึ้น แต่เป็นการจ้างโดยปราศจากสวัสดิการต่างๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล หรือกรณีอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งในบางแห่งอาจมีค่ารักษาพยาบาลหรือค่าอุบัติเหตุระหว่างการทำงานให้ แต่ก็เป็นจำนวนไม่มาก ซึ่งในพื้นที่อุตสาหกรรมจะพบการจ้างงานลักษณะนี้เยอะมาก อย่างในจังหวัดแถบภาคตะวันออกก็พบมาก บางแห่งมีการจ้างลักษณะนี้เป็นพันคน

“ตัวอย่างที่เห็นชัด เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับนักศึกษาหญิงรายหนึ่ง ที่จังหวัดระยอง เป็นข่าวดังมาก ซึ่งนักศึกษาหญิงไปฝึกงานโรงงานแห่งหนึ่ง แต่เกิดอุบัติเหตุเตาสารเคมีระเบิดและสารเคมีกระเด็นใส่หน้าและแขน โดยข่าวระบุว่าบริษัทไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างดีพอ แต่เมื่อเป็นข่าวก็ออกมาช่วย ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา และยังมีเคสลักษณะนี้อีกเยอะ ล่าสุด รมว.แรงงานรับเรื่องนี้แล้ว และมอบให้ปลัดแรงงานเข้าไปตรวจสอบปัญหาลักษณะนี้แล้ว” นายชาลี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีค่าจ้างขั้นต่ำมีการหารืออย่างไร นายชาลี กล่าวว่า ตนไม่ได้มาพูดคุยประเด็นนี้โดยเฉพาะ แต่เมื่อรัฐมนตรีสอบถาม ก็แสดงจุดยืนว่าต้องขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และควรมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างรายปี ที่สำคัญควรให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการจ้างงานแบบแรกเข้า จากนั้น 1 ปีเมื่อมีทักษะในการทำงานขึ้นก็ควรปรับค่าจ้างตามโครงสร้างค่าจ้างประจำปี แม้ปัจจุบันทางบอร์ดค่าจ้างมีการพิจารณาว่า สถานประกอบการที่มีคนงาน 50 คนขึ้นไปควรมีโครงสร้างค่าจ้าง ประเด็นคือ แล้วสถานประกอบการที่มีคนงาน 1-49 คน ก็ควรมีการโครงสร้างค่าจ้างด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าต้องแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่เช่นนั้น นายจ้างก็จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่มีโครงสร้างค่าจ้าง

น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. กล่าวว่า จริงๆ วันนี้ เดิม คสรท.เตรียมเข้าพบประเด็นค่าจ้าง แต่ปรากฏว่ามีการสื่อสารคลาดเคลื่อน เพราะมีเรื่องอื่นๆ ด้วย จึงมองว่าประเด็นทบทวนค่าจ้างควรแยกออกมาต่างหาก อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการขึ้นค่าจ้างตามมติบอร์ดค่าจ้างที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เมษายน ทางคสรท.ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเท่าไร แต่หารือกันได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ทางบอร์ดบริหารของคสรท. จะมีการประชุมกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ดค่าจ้างเคยพูดว่าจะมีเรื่องนี้ แต่ในรายละเอียดยังไม่ชัดเจน ทาง คสรท. มองว่า ควรมีรายละเอียด และเปิดโอกาสให้เราเข้าไปพูดคุยด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น