xs
xsm
sm
md
lg

ฝังเข็มรักษา “เด็กป่วยจิตเวช” 6 โรค พบพัฒนาการดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ลงนามร่วมมือมณฑลส่านชี พัฒนางานวิชาการสุขภาพจิต 6 สาขา เผยไทยนำการฝังเข็มมารักษาเด็กป่วยจิตเวช 6 โรค เริ่มแล้วที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ พบพัฒนาการดีขึ้น เตรียมศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พร้อมเตรียมขยายระบบบริการฟื้นฟูผู้ป่วยเฉพาะราย 3 โรคมาใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ

วันนี้ (29 ม.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการลงนามต่ออายุข้อตกลงความร่วมมือครั้งที่ 4 พ.ศ. 2560 - 2565 กับคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและการวางแผนครอบครัวของมณฑลส่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ความร่วมมือกับจีนในครั้งนี้เน้นข้อมูลข่าวสารวิชาการ ศึกษาดูงานและการอบรมบุคลากร 6 สาขา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ คือ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับระบบและนโยบายด้านสุขภาพจิต 2. แลกเปลี่ยนวิชาการ แนวทางปฏิบัติภาคบริการที่เป็นเลิศด้านสุขภาพจิต 3. ความร่วมมือในด้านบริการสุขภาพจิตและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เด็กติดเกมเด็กก้าวร้าว ความบกพร่องทางสติปัญญา โรคออทิสติก บริการสุขภาพจิตชุมชน บริการผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดี 4. การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก 5. การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต และ 6. ความร่วมมือในระดับของโรงพยาบาลจิตเวช และความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่กำหนดร่วมกัน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า งานสุขภาพจิตของมณฑลส่านซี มีความก้าวหน้าและพัฒนารวดเร็วมาก โดยไทยนำมาประยุกต์ใช้ในระบบบริการ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชแบบเฉพาะราย ซึ่งดำเนินการที่โรงพยาบาลเป่าจี (Baoji Rehabilitation Hospital) เน้นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานผู้ป่วย ประเมินปรับปรุงนิสัยที่เป็นปัญหาและแก้ปัญหาผู้ป่วยแต่ละด้านโดยทีมสหวิชาชีพ ให้ครอบครัวมีส่วนร่วม ให้การรักษาด้วยยาและรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้น้อยที่สุด มีหอพักสำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาแล้ว สามารถออกไปทำงานหรือทำธุระต่างๆ ภายนอกโรงพยาบาลในช่วงกลางวันได้ เป็นต้น โดยไทยได้นำมาขยายผลใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง เริ่มในผู้ป่วย 3 กลุ่มที่พบมากประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจิตเวชคือโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์ 2 ขั้ว

2. การใช้การฝังเข็มรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ศูนย์สุขภาพจิตซีอาน (Xi’ an Mental Health Center) มณฑลส่านซี ใช้รักษาโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นต้น เป็นทางเลือกใช้ควบคู่กับการแพทย์สมัยใหม่ ในส่วนของไทย ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เปิดบริการฝังเข็มที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ แห่งเดียวในประเทศ รักษาเด็กป่วยจิตเวช 6 โรค ได้แก่ โรคสมองพิการหรือโรคซีพี (Cerebral Palsy:CP) โรคออทิสติก (Autistic) ภาวะปัญญาอ่อน ( Mental Retard) สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) กลุ่มอาการดาวน์ (Down ’s syndrome ) และเด็กกลุ่มพัฒนาการช้า ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและปรับพฤติกรรมตามแผนการรักษาตามปกติแล้วได้ผลยังไม่เป็นที่พอใจ แพทย์จะพิจารณาเพิ่มการรักษาด้วยการฝังเข็ม โดยฝังเข็มที่ศีรษะ ฝังอาทิตย์ละ 3 - 4 ครั้งต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง เพื่อปรับความสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ระงับความรู้สึกปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เด็กสามารถทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้ป่วยด้วยกันได้

“ผลการรักษาพบว่า พัฒนาการเด็กดีขึ้นเป็นที่พอใจของครอบครัว เช่น เด็กออทิสติกจะนิ่งขึ้น มองหน้าสบตามากขึ้น เด็กปัญญาอ่อนเข้าใจภาษา ทำตามคำสั่งได้ดี เด็กโรคซีพีมีกำลังกล้ามเนื้อดีขึ้นอาการเกร็งลดลง เด็กสมาธิสั้นจะนิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มยาที่ใช้ บางรายอาจลดยาลงได้ ให้บริการเฉลี่ยปีละ 1,000 กว่าราย ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับมณฑลส่านซีพัฒนาวิชาการด้านนี้เพิ่มเติม เพื่อขยายผลในโรงพยาบาลในสังกัด 19 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจลดค่าใช้จ่ายการใช้ยาในอนาคตได้ด้วย” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น