แพทย์เผย “ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก” อาการเหมือนไข้หวัด แต่อาการเด่นคือ อาเจียน ท้องเสียถ่ายเหลว แนะให้รีบพบแพทย์ทันที หากให้น้ำเกลือไม่ทัน เสี่ยงช็อกเสียชีวิต
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น และชื้น ทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 3 ขวบ จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายน้อยกว่าเด็กทั่วไป ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ โรคไวรัสลงกระเพาะ หรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี คือ เชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) ซึ่งมีอัตราที่พบในเด็กร้อยละ 16 - 58 เชื้อโรคชนิดนี้สามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมทั่วไปได้นาน แฝงอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น จาน ชาม บริเวณพื้นที่ไม่สะอาด อาหารที่รับประทานเข้าไป หรือได้รับเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก อมของเล่นที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ หลังจากได้รับเชื้อเด็กจะมีอาการเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล หรือไอร่วมด้วย อาการที่เด่นชัด คือ อาเจียน ตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีอาการท้องอืดร่วมด้วย นอกจากนี้เด็กจะไม่อยากรับประทานอาหารและมีอาการถ่ายเหลวถ่ายบ่อยตามมาในระยะ 1 - 2 วัน หรืออาจพบอุจจาระเป็นมูกแต่ไม่มีเลือดปนประมาณ 5 - 7 วัน
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า การรักษาโรคไวรัสลงกระเพาะส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานได้โดย 1. เมื่อมีไข้ ควรเช็ดตัว และให้ยาลดไข้ 2. ถ้าอาเจียน ถ่ายบ่อย อาจให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ 3. ดื่มนมและรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และที่สำคัญควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น เด็กไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ปัสสาวะน้อยลงมีอาการซึม งอแง ถ่ายบ่อย อาเจียนบ่อยครั้ง ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากให้น้ำเกลือไม่ทัน อาจจะรุนแรงจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต เนื่องจากภูมิต้านทานน้อยกว่า
ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะจากเชื้อไวรัสโรตา สามารถลดการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการ แต่ยังมีราคาสูง ผู้ปกครองจึงควรมุ่งเน้นป้องกันด้วยการเลี้ยงดู เช่น สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กโดยการให้ดื่มนมแม่เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัสและแบคทีเรียชนิดต่างๆ ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่เด็ก รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย จัดสุขลักษณะภายในบ้านให้สะอาด หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น และที่สำคัญหากมีเด็กป่วยโรคไวรัสลงกระเพาะอยู่ภายในบ้านหรืออยู่ห้องเรียนเดียวกัน ผู้ปกครองหรือครูผู้ดูแล ควรแยกเด็กป่วยและเด็กปกติออกจากกัน เพราะเชื้อโรคสามารถปนเปื้อนมากับน้ำมูกน้ำลาย การไอจามรดกัน และการใช้ของร่วมกัน