xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบขึ้น “ค่าจ้าง” เร่งธุรกิจปิดตัวเร็วขึ้น สวัสดิการอาจถูกปรับลด เผยลดจ่ายสมทบทำเงินสูญ 2 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 คำนึงถึงทุกผลกระทบ หนุนขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน ช่วยเปิดช่องว่างขยายการลงทุน ห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีแบกรับไม่ไหว อาจล้มหายตายจากได้ ต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรับผลกระทบโดยตรง ขณะที่สวัสดิการบางอย่างอาจถูกปรับลด ตัวแทนแรงงานค้านนายจ้างลดเงินสมทบ ทำเงินหาย 2 หมื่นล้านบาท ค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นอัตราแรกเข้าเท่านั้น ด้านนายจ้างชี้แรงงานมีฝีมือ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ปัญหา

วันนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ในงานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อความท้าทายในยุค 4.0 ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ โดยมีการกำหนดสูตรคำนวณ ทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ การคุ้มครองความเป็นอยู่ของแรงงาน คุณภาพชีวิตลูกจ้าง อ้างอิงตัวแปรทางเศรษฐกิจ ใช้ระบบอนุกรรมการจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นระบบไตรภาคี และการประเมินทิศทางของเศรษฐกิจ การพัฒนาเชิงพื้นที่ และมาตรการลดผลกระทบ เป็นเหตุให้การขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันทุกจังหวัด เพราะมีโครงสร้างหรือปัจจัยเหล่านี้ต่างกัน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ เพราะหากเท่ากันจะไม่เหลือช่องทางในการขยายงานหรือการลงทุนเลย เช่น สุรินทร์เท่ากับชลบุรี ก็คงไม่มีใครอยากไปลงทุนในสุรินทร์ เพราะเดินทางไกล การมีค่าจ้างไม่เท่ากันก็เป็นการเปิดช่องไว้ให้ เช่น อยากไปลงทุนก็มีค่าแรงที่ถูกกว่า เป็นต้น

“ส่วนที่ว่าค่าจ้างขึ้นสูงบางพื้นที่จะทำให้คนมากระจุกตัวนั้นไม่จริง เพราะอย่าลืมว่าค่าครองชีพไม่เท่ากัน อย่าง กทม. ค่าเช่าบ้านสูงกว่าต่างจังหวัด คงต้องมาดูว่าลูกจ้าง กทม. กับต่างจังหวัดใครเหลือเงินในกระเป๋ามากกว่ากัน ซึ่งอาจเป็นตัวชี้วัดในอนาคตก็ได้ ส่วนประเด็นการพิจารณาของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เมื่อเสนอมาคณะกรรมการค่าจ้างแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะอนุกรรมการจังหวัดเสนอมาในมุมจังหวัด เมื่อเสนอเข้ามาส่วนกลางก็ต้องมองภาพรวมด้วย เช่น จังหวัดติดกันก็ควรใกล้เคียงกัน มิเช่นนั้นจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ในระยะสั้น คือ กลุ่มที่ยังไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำก็จะได้รับการปรับขึ้น แต่สถานประกอบการขนาดเล็กก็จะเกิดปัญหาสภาพคล่องด้วย เพราะต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกวัน แต่มาตรการทางภาษีที่จะช่วยไปเกิดปลายปี ซึ่งหากรับภาระไม่ไหวก็อาจล้มได้ ลูกจ้างก็รับผลกระทบอีก ส่วนผลระยะกลาง คือ ปรับฐานโครงสร้างค่าจ้าง โดยคนที่ได้ค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำก็จะบอกว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ก็ต้องมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งถ้ามองในแง่รัฐบาลน่าจะชอบ เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเป็นช่วงที่มาตรการช่วยเหลือภาครัฐเริ่มทำงาน แต่ต้องยอมรับว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประโยชน์เกื้อกูลที่นายจ้างให้ลูกจ้าง เช่น เคยได้ที่พักฟรี อาหารฟรี ก็อาจต้องจ่ายเอง ซึ่งแรงงานต่างด้าวก็จะได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงอาจมีสถานประกอบการล้มหายตายจากและปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งประเด็นค่าจ้างเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดการตัดสินใจปิดกิจการหรือพึ่งพาเทคโนโลยีเร็วขึ้น ไม่ใช่เป็นสาเหตุทั้งหมด เพราะปัจจุบันก็หันมาพึ่งเทคโนโลยีหรือดิจิทัลมากขึ้นอยู่แล้ว

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือหากเป็นส่วนของกระทรวงแรงงานเองน่าจะขับเคลื่อนได้ง่าย เช่น การลดจ่ายเงินสมทบ ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคม หรือการช่วยเหลือลูกจ้างที่อาจหลุดจากระบบ และการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ส่วนที่อยู่นอกกระทรวงแรงงาน คือ การลดหย่อนภาษีหรือการมีกองทุนช่วยเหลือ การขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการคงราคาบางอย่างไว้ ภาครัฐต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม เพราะหากลดหย่อนมากเกินไป อาจได้รับสิทธิแค่ผู้ประกอบการบางส่วน จึงต้องขีดให้ชัดว่า ใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม และในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นแค่เครื่องประกันในการอยู่รอด แต่สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และยุติธรรมกับแรงงานที่ไปพัฒนาฝีมือด้วย ไม่ใช่ว่ามีใบพัฒนาฝีมือแรงงานแต่กลับให้ค่าจ้างเท่าเดิม

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ส่วนการเตรียมการกลุ่มท้าทายในอนาคต คือ ผู้สูงอายุ จะให้ค่าจ้างเท่ากันหรือไม่ เพราะทำงานได้น้อยลง แต่ถ้าต้องจ่ายแบบเต็มวันก็ไม่เอื้อ จึงหันไปใช้แรงงานข้ามชาติ การทำให้อยู่ได้ เช่น อาจจ่ายให้เหมาะสมเป็นพาร์ทไทม์ได้หรือไม่ หรือกำหนดเป็นชั่วโมง ขณะที่ปัญหาอีกเรื่องคือ เด็กเราน้อยลง จึงพยายามขยายอายุการทำงานขึ้นไป จึงมองว่าขยายอายุทำงานลงมา คือ แรงงานเยาวชนด้วย เหมือนอย่างต่างประเทศที่เยาวชนหากงานทำทั้งสิ้น จึงอาจต้องมีแรงงานพาร์ทไทม์หรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทาย นอกจากนี้ ต้องจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย หากใครไม่จ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมีมาตรการทางกฎหมายด้วย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แต่ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างประจำปี ซึ่งจริงๆ แล้วค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นค่าจ้างแรกเข้าเฉพาะคนใหม่เท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมาอย่าง 1 - 2 ปี ขีดความสามารถก็ต้องเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการปรับเพิ่ม ไม่ใช่อยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำไปอย่างนั้น นั่นคือสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปี ซึ่งหากมีตรงนี้ก็จะหนีจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำออกไป อย่างไรก็ตาม ต้องพัฒนาเรื่องค่าจ้างของมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย เพราะแม้จะมีการพัฒนาทักษะฝีมือ แต่ค่าจ้างห่างกับคนที่ไม่มีฝีมือเพียง 10 - 20 บาท คนก็ไม่อยากจะฝึก ตรงนี้ต้องมีการยกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น

นายมนัส กล่าวว่า ส่วนกรณีข้อเสนอลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ต้องบอกก่อนว่า ประกันสังคมมีอยู่ 13 ล้านคน แยกเป็นผู้ประกันตน 11 ล้านคนที่อยู่ในสถานประกอบการ และนายจ้างร่วมสมทบ  ซึ่งหากตามข่าวที่ว่าจะให้ลดหย่อนเงินสมทบของนายจ้าง ทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วย โดยเงินส่วนนี้จะหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเข้ากองทุนประกันสังคม  ซึ่งเงินประกันสังคมส่วนนายจ้าง ก็คือเงินออมเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง ทั้งเงินออม ทั้งเงินรักษาพยาบาล ดังนั้น หากจะปรับลดเงินสมทบของนายจ้าง ต้องคุยกันยาว นอกจากนี้ เรืิ่องค่าจ้างยังมีประเด็นย่อยอีกมาก อย่างการจ้างงานก็มีหลากหลาย เช่น สัญญาจ้างเป็นปีต่อปี พอเกษียณอายุก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้เงินชดเชย เจ็บป่วยก็เบิกไม่ได้ หรือการจ้างงานตามภารกิจ ก็จะถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ และหากไม่ต่อสัญญาก็ไม่ได้ค่าชดเชย จึงต้องทบทวนการจ้างงานของประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน

นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เราอยู่ในยุคปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ย้อนแย้งกันอยู่ คือ กังวลกับความเปลี่ยนซึ่งคุกคามความมั่นคงของงาน เช่น ดิจิทัลเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจทั้งหมด หรือการขึ้นค่าจ้าง ซึ่งธุรกิจใหญ่อาจมีวิธีปรับเปลี่ยนให้อยู่ได้ แต่เอสเอ็มอีและภาคการเกษตรน่าเป็นห่วง ซึ่งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันอีกมิติก็ขาดแคลนคน อยากได้แรงงานเพราะหายาก เนื่องจากประชากรไทยลดลง หากพิจารณาตัวเลขประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า กำลังแรงงานที่อายุ 15 - 60 ปี มีอยู่ 42 ล้านคน แต่จากประชากรเกิดน้อยลง พบว่า อีก 15 - 16 ปี จะเหลือแรงงานแค่ 36 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เรื่องอัตราค่าจ้างไม่สำคัญเท่าการมีทักษะของแรงงาน ซึ่งไม่ว่าค่าจ้างจะเป็นเท่าไร หากคนมีทักษะมีความสามารถก็ได้ค่าจ้างสูงอยู่ดี ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีผล ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กกลางใหญ่มีขีดความสามารถสูงขึ้น เป็นความท้าทายนายจ้างลูกจ้าง ในการพัฒนาทักษะในการทำงาน นอกจากนี้ รัฐต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายค่าจ้าง นโยบายลดหย่อน แต่ระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะความสามารถของคนคือขององค์กร ของประเทศด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น