สภาพัฒน์ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุ “บิ๊กตู่” สั่งควบคุมงบอุดมศึกษา สาขาไม่มีงานทำ ไม่ตรงตามความต้องการ ด้านอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ จวกเป็นการมองผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่เห็นการลงทุนระยะยาว หวั่นสาขามนุษยศาสตร์โดนก่อน เหตุไม่ตรงตามความต้องการตลาด ยกวิชา “ปรัชญา” ไม่มีมูลค่าเชิงตลาดทันที แต่เป็นที่ต้องการเวลาสังคมเกิดข้อถกเถียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1111/393 เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ได้นำเสนอกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เพื่อทราบความเห็น เรื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ. 2561 - 2580 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติม จึงใคร่ขอแจ้งข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรีมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้
1. ให้ศึกษาในประเด็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน/ประถม/มัธยม ให้ได้คนที่มีศักยภาพ ตรงความต้องการของประเทศอย่างไร ผู้ที่เข้าอุดมศึกษา/สาขาที่ต้องการได้อย่างไร/ส่วนหนึ่งไปอาชีวะ ได้ปริญญาอย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนให้สังคม ประชาชน/ผู้ปกครองสนใจ
2. กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้ เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ./ปัญหาต่อเนื่อง
ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Athapol Anunthavorasakul ถึงเรื่องนี้ ว่า นี่คือ การคิดแบบเอาตลาด และโลกพังๆ ที่เป็นอยู่ เป็นตัวตั้งในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่สุดโต่งที่คิดอะไรเป็นตัวเลข ต้องการเห็นผลทันใจ มองประโยชน์ระยะสั้น ไม่เห็นการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาสังคม และที่สำคัญนี่คือเรื่องการศึกษา ถ้าจะไม่สนับสนุนสาขาที่บัณฑิตจบไปไม่ตรงความต้องการตลาด สาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์คงโดนหนักก่อน
สาขาวิชาอย่างปรัชญา วรรณคดี นั้นหากพิจารณาผิวเผิน อาจดูไม่มีมูลค่าทันทีเชิงการตลาด แต่เวลาสังคมต้องการการถกเถียงทางความคิด เราก็พบว่าเพราะตรรกะมันบิดเบี้ยว เพราะละเลยไม่ร่ำเรียนปรัชญา ไม่ฝึกตั้งคำถาม ไม่มีการฝึกวิเคราะห์กรอบคิด ไม่มีการฝึกการใช้เหตุผลในการถกเถียง ฯลฯ สาขาวิชาอย่างวรรณคดี คือต้นทุนทางวัฒนธรรม ไม่ได้เห็นผลทันทีทันใจ แบบว่าเรียนจบปุ๊ปเป็นนักเขียนดังปั๊บ แต่ภาพยนตร์ชุดอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ลอร์ดออฟเดอะริง ซีรีส์ อย่าง เกม ออฟ โทรน ที่ทำรายได้ให้อุตสาหกรรมสื่อ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวที เป็นหมื่นๆ ล้านเหรียญ ก็มาจากการสั่งสมความรู้ทางวรรณคดีของสังคมที่ฟูมฟักให้เกิดนักเขียน คนเขียนบท ฯลฯ
สาขาวิชาเหล่านี้ยิ่งต้องการการพัฒนาบุคลากร เพราะเป็นสาขาที่จะหวังให้ผู้เรียนไปหาทุนจากแหล่งอื่นมาส่งตัวเองเรียนยิ่งหาได้ยากมากๆ สิ่งที่รัฐต้องพิจารณาให้รอบคอบ คือ มหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อผลิตแรงงาน แต่หน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย คือ การเป็นกลไกสร้างต้นทุนทางปัญญา ต้นทุนมนุษย์ ต้นทุนทางวัฒนธรรม ฯลฯ อย่างไรเสียก็ต้องมีสาขาที่ถอยไม่ได้ รัฐต้องอุ้มชูไว้ ถ้าจะลดการสนับสนุนเพราะเรื่องตลาดงานก็ต้องพิจารณาดูสาขาที่มันลิงค์กับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ ไม่ใช่เหมาเข่งไปเสียหมด
พูดอย่างนี้ไป คนที่เติบโตมาแบบ market-driven ในสังคมที่มองอะไรแค่ผลตอบแทนระยะสั้นก็ไม่เข้าใจ และคงยากที่จะพยายามทำความเข้าใจ และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ มหาวิทยาลัยในทุกวันนี้ก็แทบจะสมยอมต่อหน้าที่โรงงานผลิตแรงงาน ไม่ได้ทุ่มเททำหน้าที่สั่งสมหรือสร้างสรรค์ปัญญาให้สังคมได้เห็นว่ามีมหาวิทยาลัยไว้เพื่ออะไรเสียด้วย