xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.ระดมสมองอัปเกรด “ครู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกศ. ระดมสมองถกอัปเกรด‘PLC4.0’ ร่วมแชร์การเรียนการสอน แนวทางแก้ไขปัญหา หนุนเติมความรู้ให้ครูก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดลูกศิษย์

วันนี้ (23 ม.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สกศ. จัดการประชุมทางวิชาการ โดยระดมแนวคิดจากทั้งผู้บริหารระดับนโยบาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมถึงครูผู้สอน ในฐานะฝ่ายปฏิบัติ เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์สร้างการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Communicaty) แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจแนวทางระบบ PLC และเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมครูยุคใหม่ ในการหารือพูดคุยกันและสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาห้องเรียน 4.0 นำไปสู่การต่อยอดและยกระดับไปสู่ประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ จากการเสวนาร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ พบว่า PLC มีส่วนสำคัญในการสร้างกลุ่มครูมีความเข้มแข็ง ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้จากการสอนเด็ก และร่วมกันเรียนรู้ปัญหา สาเหตุ และหาแนวทางแก้ไขต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนการสอนในห้องเรียน และยังสามารถนำไปใช้เป็นชั่วโมงสะสมจาก PLC ในการทำวิทยฐานะครูได้อีกด้วย ขณะที่การส่งเสริมและสนับสนุนครูนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องช่วยเหลือสนับสนุน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ลดภาระครู จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการประเมินครูและบูรณาการตัวชี้วัดใหม่ให้ครูได้สอนและอยู่ในห้องเรียนอย่างเต็มที่ สามารถใช้นวัตกรรมการสอนไปทำวิทยฐานะครูได้โดยครูไม่ทิ้งห้องเรียนอีกต่อไป 2. เติมความรู้ ผ่านกระบวนการส่งเสริมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ครู เช่น คูปองครู เน้นเติมอาวุธทางปัญญาแก่ครู ทันสมัยในการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 และ 3. ต่อยอดระบบ PLC ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มครูอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความแตกต่างกันของแต่ละสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่มีมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ โดย สกศ. เร่งสรุปสาระสำคัญเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งการเพื่อยกระดับการพัฒนาครูทั้งระบบต่อไป

“จากการประชุมร่วมกันสะท้อนชัดเจนว่า กรอบการพัฒนาครูเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะครูคือปัจจัยแห่งความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็ก นำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน การทำงานของครูยุคใหม่ต้องไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมผ่านระบบ PLC กำหนดปัญหาร่วมกัน ซึ่งโฟกัสการเรียนรู้ไปที่ตัวเด็ก คือ ผู้เรียน โดยสร้างความร่วมมือกันของกลุ่มครูอย่างเข้มแข็ง และมีการเยี่ยมห้องเรียน อย่างสม่ำเสมอเพื่อแก้ไขปัญหาหน้างานอย่างตรงจุด” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น