เครือข่ายแรงงานยันเรียกร้อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เท่ากันทั้งประเทศ ไม่ได้เล่นการเมือง เตือน “บิ๊กอู๋” อย่าผลักคนหนุน รบ.ไปเป็นศัตรู ชี้แก้กฎหมายมีโครงสร้างค่าจ้างทุกบริษัท ช่วยเลิกเถียงค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละปี ด้าน สปส. เผยยังศึกษาตัวเลขลดจ่ายสมทบไม่เสร็จ ยังไม่ได้ส่งบอร์ดประกันสังคมพิจารณา
หลังคณะกรรมการค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ในอัตรา 5 - 22 บาท ขณะที่เครือข่ายแรงงานยืนยันว่าจะต้องขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาเรียกร้องกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ให้หยุดเล่นการเมือง
วันนี้ (23 ม.ค.) นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า พวกตนไม่ได้เล่นการเมือง แต่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานก็เป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ทำไมต้องพูดในเชิงผลักเราออกไปเป็นศัตรู อย่าให้คนที่รักและศรัทธารัฐบาลต้องมองคุณอีกมุมหนึ่ง
“ที่ออกมาเรียกร้อง เพราะที่ผ่านมามีบริษัทประมาณ 30% ที่แต่ละปีไม่เคยปรับขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างเลย ยังคงอยู่ที่ 300 บาทเหมือนเดิม จึงต้องออกมาเรียกร้อง ซึ่งตัวเลขที่บอร์ดค่าจ้างเคาะออกมาเราก็ยอมรับ แต่ที่ต้องมีการเคลื่อนไหวต่อก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยยืนยันหลักการว่าจะต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเราจะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่จะพิจารณาหรือไม่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล พวกเราก็เรียกร้องมาตลอด ใช่เล่นการเมืองที่ไหน แต่ถ้าอยากให้จบก็ต้องไปแก้กันที่ระบบ คือออกกฎหมายให้ทุกบริษัท ทุกสถานประกอบการ ไม่ใช่แค่สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไปเท่านั้นที่จะต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างรู้ว่าแรกเข้าทำงานจะได้ค่าจ้างเท่าไร แต่ละปีจะได้ขึ้นเท่าไร ก็จะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าจะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำกันในแต่ละปี” นายชาลี กล่าว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้นายจ้างและลูกจ้างลดจ่ายสมทบประกันสังคมฝ่ายละ 1% ว่า ต้องขอขอบคุณที่มีความเป็นห่วงกองทุนกัน แต่เรื่องนี้บอร์ดค่าจ้างเพียงแต่มีมติเป็นข้อเสนอไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เช่น กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องการลดภาษี กระทรวงพาณิชย์พิจารณามาตรการตรึงราคาสินค้า ส่วน สปส. พิจารณาข้อเสนอเรื่องการลดเงินสมทบฝ่ายละ 1% ซึ่งบอร์ด สปส. ยังไม่ได้พิจารณา อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบ และยังไม่ได้ข้อสรุป ผลจะออกมาอย่างไรก็อยู่ที่การพิจารณาของบอร์ด สปส. และบอร์ดค่าจ้างไม่ได้มีอำนาจมาสั่ง
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส. เคยให้สิทธินายจ้าง ลูกจ้างลดเงินสมทบกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งขณะนั้นกฎหมายยังเป็นตัวเดิม เวลาลดเงินสมทบก็เลยต้องลดทั้งประเทศ และอีกกรณีหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมภาคใต้เมื่อปี 2559 กม. มีการแก้ไขแล้วเลยสามารถลดเงินสมทบเฉพาะพื้นที่ประสบภัย ไม่ต้องลดทั้งประเทศ ซึ่งตอนนั้นให้สิทธิทั้งนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งได้รับผลกระทบทั้งคู่ สามารถลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนลง 2% เท่ากับว่าต้องส่ง 3% โดยให้ส่งช้าได้และไม่ต้องเสียค่าปรับ ระยะเวลาที่ลดให้ก็เป็นไปตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตอนนั้นลดให้น่าจะไม่เกิน 6 เดือน รวมๆ แล้วเป็นเงินประมาณ 2 พันล้านบาท ถือว่าเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน กองทุนไม่ได้คิดถึงแต่ความมั่นคงของกองทุนเท่านั้น แต่เราคิดถึงความมั่นคงของชีวิตของประชาชนด้วย