xs
xsm
sm
md
lg

เช็กเลย!! แนวทาง “ตรวจสุขภาพ” ใหม่ วัยไหนควรตรวจอะไรบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลอดออกมาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนที่มีสุขภาพปกติ ไม่เจ็บป่วย จัดทำโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ วัยเด็ก - วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ และ หญิงตั้งครรภ์ มาเช็กกันเลยว่า แต่ละวัย ควรตรวจสุขภาพเรื่องอะไรบ้าง

อายุ 0-18 ปี แบ่งเป็นช่วงอายุ ดังนี้ ทารก 0-7 วัน, 1 เดือน, 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 9 เดือน, 12 เดือน, 18 เดือน, 2 ปี, 3 ปี, 4 ปี, 6 ปี, 8 ปี, 10 ปี, 11-14 ปี, 15-18 ปี

1. ประวัติ/สัมภาษณ์ สิ่งที่พ่อแม่กังวลและความเสี่ยงต่อ (วัณโรค สารตะกั่ว และไขมันโลหิตสูง) ควรตรวจในทุกช่วงวัย ช่วงละ 1 ครั้ง

2. การตรวจร่างกาย แบ่งเป็น ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ควรตรวจในทุกช่วงวัย ช่วงละ 1 ครั้ง ส่วนการวัดเส้นรอบศีรษะให้ตรวจจนถึงช่วง 2 ปี ดัชนีมวลกายให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 11 ปีเป็นต้นไป และความดันโลหิตให้ตรวจช่วงอายุ 3-6 ปี 1 ครั้ง และช่วงอายุ 8 ปีขึ้นไป ช่วงละ 1 ครั้ง

3. การประเมินพัฒนาการและสุขภาพจิต แบ่งเป็น การติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการ ต้องตรวจทุกช่วงวัย ส่วนการตรวจคัดกรองพัฒนาการ ให้ตรวจช่วง 9 เดือน 18 เดือน และ ช่วง 2-4 ปี 1 ครั้ง ขณะที่การประเมินปัญหาทางจิตใจ สังคม พฤติกรรม และการเรียนรู้ ต้องตรวจทุกช่วงวัยเช่นกัน

4. การคัดกรอง แบ่งเป็น วัดสายตาโดยใช้เครื่องมือ เริ่มตรวจที่อายุ 3-6 ปี 1 ครั้ง และตรวจช่วง 8 ปี, 10 ปี 11-14 ปี และ 15-18 ปี ช่วงละ 1 ครั้ง ส่วนการได้ยินด้วยเครื่องมือพิเศษ ตั้งแต่ 0-6 เดือนให้ตรวจ 1 ครั้ง และตรวจโดยการซักถามและใช้เทคนิคตรวจร่างกาย ให้ตรวจตั้งช่วง 9 เดือน 12 เดือน 18 เดือน และ 2 ปี ช่วงละ 1 ครั้ง 3-6 ปี 1 ครั้ง และ 11-18 ปี อีก 1 ครั้ง

5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แบ่งเป็น ตรวจเลือดคัดกรองทารกแรกเกิด โดยตรวจช่วง 0-1 เดือน 1 ครั้ง ส่วนการตรวจระดับฮีโมโกลบิน ตรวจช่วง 6-12 เดือน 1 ครั้ง 3-6 ปี 1 ครั้ง หากเป็นเด็กผู้หญิงให้ตรวจเพิ่มตอนช่วงอายุ 11-18 ปี อีก 1 ครั้ง

6. วัคซีนป้องกันโรค ควรฉีดทุกช่วงวัย ช่วงละ 1 ครั้ง ยกเว้นช่วง 9-12 เดือนให้ฉีดรวมกันเป็น 1 ครั้ง ช่วง 4-6 ปี รวมกันเป็น 1 ครั้ง และช่วง 11-18 ปี รวมเป็น 1 ครั้ง

7. การให้คำปรึกษาแนะนำส่งเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย การเลี้ยงดูเด็กตามวัย ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ โภชนาการและการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน และการป้องกันอุบัติเหตุ ควรตรวจทุกช่วงวัย สำหรับการส่งต่อบุคลากรทางทันตกรรม ควรดำเนินการช่วง 6-12 เดือน 1 ครั้ง ขณะที่การตรวจเรื่องสารเสพติด อนามัยเจริญพันธุ์ และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ควรตรวจทุกช่วงตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

สำหรับอายุ 15-80 ปี (อายุ 15-18 ปี จะเป็นกรณีเข้าสู่ระบบทำงานแล้ว) ควรตรวจสุขภาพดังนี้

1. การตรวจร่างกาย ประกอบด้วย
- การวัดสัญญาณชีพ ประกอบด้วย ความดันโลหิต คลำชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ควรตรวจในช่วงอายุ ปีละ 1 ครั้ง ส่วนการตรวจอื่นๆ เช่น วัดเส้นรอบเอว คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ควรตรวจทุกช่วงอายุปีละ 1 ครั้งเช่นกัน ส่วนความยาวแขน ควรตรวจตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง

-การตรวจร่างกายตามระบบ ควรตรวจทุกช่วงอายุปีละ 1 ครั้ง

-การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข แนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 30 ปี 33 ปี 36 ปี ช่วงละ 1 ครั้ง และอายุ 39-69 ปี ปีละ 1 ครั้ง โดยอายุ 70 ปีขึ้นไปให้ตรวจตามความเหมาะสม

-การตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ควรตรวจทุกช่วงอายุปีละ 1 ครั้ง

-การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ ควรตรวจช่วงอายุ 40-60 ปี จำนวน 1 ครั้ง อายุ 61-64 ปี ตรวจทุก 2 หรือ 4 ปี และช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 1-2 ปี การตรวจสายตาด้วย Snellen eye chart ควรตรวจตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง

-การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test ควรตรวจทุกช่วงอายุปีละ 1 ครั้ง

2. การใช้แบบประเมินสุขภาพ
-การประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด Thai CV risk score ควรตรวจทุกช่วงอายุ ปีละ 1 ครั้ง

-การประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าชนิด 2 คำถาม ควรตรวจทุกช่วงอายุ ปีละ 1 ครั้ง

-การประเมินภาวะโภชนาการด้วยแบบ Thai mini nutrition assessment , การประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน OSTA index และการประเมินการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานด้วย Barthel ADL index ควรตรวจตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง

-การประเมินสมรรถภาพสมอง Modified IQCODE ควรตรวจตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง

-การประเมินระดับการติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ด้วย Fagerstrom Test , การประเมินปัญหาจากแอลกอฮอล์ด้วย AUDIT และการประเมินการใช้สารเสพติดด้วยแบบคัดกรอง V.2 ควรตรวจในทุกช่วงอายุปีละ 1 ครั้ง

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC ช่วงอายุ 18-60 ปี ควรตรวจ 1 ครั้ง หากไม่ได้ทำการตรวจในวัยเด็ก และตรวจอีกครั้งเมื่ออายุ 69 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง

- ตรวจปัสสาวะ UA ควรตรวจตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง

4. การตรวจสารเคมีในเลือด
- ตรวจน้ำตาลในเลือด FBS ควรตรวจตอนอายุ 35- 59 ปี ควรตรวจ 3 ปี 1 ครั้ง และอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง

-ตรวจการทำงานของไต Cr ควรตรวจตอนอายุ 60 ปีขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง

-ตรวจไขมันในเส้นเลือดชนิด Total cholesterol & HDL cholesterol แนะนำว่า ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปตรวจตรวจ 5 ปี 1 ครั้ง

5.การตรวจอื่นๆ ประกอบด้วย การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทุกช่วงอายุควรตรวจ 1 ครั้ง ในผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 ส่วนการตรวจความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปบสเมียร์ แนะยำว่าช่วงอายุ 30 - 65 ปี ให้ตรวจ 3 ปี 1 ครั้ง และอายุ 66 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสม หากตรวจด้วยวิธี VIA แนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 30-55 ปี ตรวจ 5 ปี 1 ครั้ง ส่วนอายุ 56-65 ปี ให้ตรวจด้วยวิธีแปบสเมียร์เท่านั้น และตรวจด้วยวิธี VIA ได้ตามความเหมาะสมตอนอายุ 66 ปีขึ้นไป

-การตรวจหาเลือดในอุจจาระ FOBT ให้ตรวจช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ปีละ 1 ครั้ง

-การตรวจคัดกรองทางอาชีวอนามัย แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงของงานที่ทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น