“หอย” สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีจำนวนมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากแมลง มีความเกี่ยวพัน เชื่อมโยงกับมนุษย์อย่างน่าอัศจรรย์ อาทิ ด้านประเพณีความเชื่อ รดน้ำสังข์ ด้านภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อน ด้านเศรษฐศาสตร์ ใช้เป็นเบี้ยเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือนำมาเพื่อบริโภค ขณะเดียวกัน หอยบางชนิดกำลังพบวิกฤตอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เช่น หอยมือเสือ หอยตลับ
ทั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเครือข่าย เปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้แก่เยาวชน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่สามารถหาชมเปลือกหอยค่อนข้างยาก ภายใต้การจัดแสดงนิทรรศการ “เปลือกหอย” นับเป็นนิทรรศการการแสดงเปลือกหอยใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
นายจอม ปัทมคันธิน ทายาทเจ้าของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสะสมหอย เกิดจากความสงสัยส่วนตนเกี่ยวกับความงามของเปลือกหอย กระทั่งเริ่มสะสมมาเรื่อยๆ จึงพบความหมายในคำถามนั้น เมื่อจำนวนเปลือกหอยเพิ่มมากขึ้น จึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดให้ชาวต่างชาติชม ซึ่งเป็นที่นิยมมาก และขยายผลสู่สถาบันศึกษา ซึ่งนับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแห่งแรกที่ นำเปลือกหอยมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก โดยเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของภาคอีสาน ภายใต้จุดประสงค์หลัก คือ ปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ อยู่อาศัยกันอย่างพึ่งพาและเกื้อกูลกัน
“จุดเด่นของนิทรรศการเปลือกหอย คือ ความสวยงามของเปลือกหอยทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เปลือกหอยทะเล เปลือกหอยบก และเปลือกหอยน้ำจืด ซึ่งหอยในต่างประเทศไม่สวยงามเท่าบ้านเรา ด้วยเนื่องจากสภาพอากาศที่แตกต่าง จึงทำให้ชาวต่างชาติบินมาดูหอยที่ประเทศของเรา” นายจอม กล่าว
ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา เครือข่ายสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงความน่าสนใจของหอย ว่า หอยมีความเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์มนุษย์ในหลายมิติ เช่น ด้านขนบธรรมเนียม ในพิธีมงคลสมรสมักมีการรดน้ำคู่บ่าวสาวด้วยหอยสังข์ ด้านประวัติศาสตร์สร้างผังเมืองโบราณด้วยเปลือกหอย ด้านภูมิศาสตร์ พยากรณ์การเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อนด้วยหอย ด้านประชากรศาสตร์สามารถทราบถึงการเคลื่อนย้ายของถิ่นฐานมนุษย์ยุคก่อนตามบริเวณริมน้ำ ด้านเศรษฐศาสตร์ใช้เป็นเบี้ย แลกเปลี่ยนแทนเงินสมัยพ่อขุนรามคำแหง ด้านสาธารณสุข หอยบางชนิดเป็นยารักษาโรค และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวัดค่าน้ำเสีย ได้จากการดูจำนวนหอยบางชนิดในแม่น้ำนั้น นับว่าผูกพันกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย
ดร.กรอร วงษ์กำแหง ภาควิชาสัตววิทยา เครือข่ายสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในการจัดแสดง การจัดนิทรรศการครั้งนี้ แสดงความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ แสดงถึงความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ของชาติไทย นิทรรศการหอยจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เยาวชนเห็นคุณค่าเกิดการศึกษาสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจ เข้าใจ และพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทำให้ประเทศชาติ มีภาวะเข้มแข็ง ดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
ผศ.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพ.สธ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศ แสดงนิทรรศการและเผยแพร่ความรู้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาธรรมชาติวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในได้จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยา นับตั้งแต่การกำเนิดโลกสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ นำเสนอในรูปแบบที่แปลกใหม่ โดยผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่เยาวชนและประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแท้จริง
“การจัดนิทรรศการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทราบถึงคุณค่าและความสำคัญของเปลือกหอย ตลอดจนเพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับหอยในทุกประเภท อาทิ หอยทะเล หอยบก หอยน้ำจืด พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในนามตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องขอขอบพระคุณ คุณจอม ปัทมคันธิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้งสองแห่ง ที่บริจาคเปลือกหอย และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มองลึกลงไปในคุณค่าของสิ่งมีชีวิตและสนใจความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น” ผศ.เพ็ญประภา กล่าว
นิทรรศการเปลือกหอย สามารถรับชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่ 123 ริมบึงสีฐานฝั่งทิศตะวันตก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002 หมายเลขติดต่อ 0-4300-9700 ต่อ 45596 หรือเว็บไซต์ http://rspg.kku.ac.th และ facebook: พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับอัตราค่าเข้าชม เด็ก 10 บาท นักเรียน/นักศึกษา 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท