xs
xsm
sm
md
lg

หมอย้ำ “โรคสะเก็ดเงิน” ไม่ติดต่อ แนะ 4 วิธีลดอาการกำเริบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ย้ำ “โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ติดต่อ แต่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่ป้องกันการกำเริบได้ แนะ 4 วิธีดูแลตัวเองให้แข็งแรงป้องกันอาการกำเริบ ช่วยอยู่กับโรคสะเก็ดเงินได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่โลกโซเชียลได้แชร์กรณีสาวป่วยโรคสะเก็ดเงิน จนบุคคลรอบข้างรังเกียจคิดว่าเป็นโรคร้าย ส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมากนั้น ทางการแพทย์ขอชี้แจงว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่มีช่วงระยะเวลาที่อาการของโรคจะสงบ ทั้งนี้บุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงานและสังคม ไม่ควรรังเกียจ แต่ควรให้กำลังใจผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคผิวหนังระดับประเทศ สามารถให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการที่พบคือ มีผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเงินปกคลุม เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะจะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวคล้ายรังแค ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น บาดแผลบนผิวหนัง ถูกของมีคมทำให้เป็นแผลหรือเพียงรอยถลอกเล็กน้อย อาจทำให้เกิดผื่นของโรคที่บริเวณนั้น เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค ถ้าเป็นผื่นไม่มากรักษาโดยใช้ยาทา หากไม่ดีขึ้นอาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจให้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อมาทาหรือรับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรดูแลตนเอง ดังนี้ ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนอนหลับพักผ่อนวันละ 6 - 8 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายประจำหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด จะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ในปัจจุบันคาดว่าร้อยละ 2 ของประชากรไทยเป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยสามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในจำนวนเท่าๆ กัน ด้วยอาการของโรคสะเก็ดเงินที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ผื่นบริเวณหนังศีรษะลอกแห้ง ผิวหน้า หรือบริเวณนอกร่มผ้า จึงค่อนข้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในด้านการทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าพบปะผู้คนหรือการเข้าสังคม หรือบางกรณีผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อ รูปลักษณะข้อเกิดการผิดรูปหรือเสียรูปถาวร จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงาน หรือดำเนินชีวิตประจำวันได้เท่าคนปกติ

โรคสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีอาการเป็นช่วงๆ แต่สามารถควบคุมอาการได้ ดังนั้นการวางแผนเพื่อการรักษาในระยะยาวและต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยแพทย์ฯ จะต้องวินิจฉัยจากชนิดของอาการของผู้ป่วย ความรุนแรง โดยผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินเกินร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิวจะถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับยาที่นอกเหนือจากยาทา ได้แก่ การฉายแสงหรือการอาบแสงแดดเทียมและการรับประทานยาหรือฉีดยาสำหรับโรคดังกล่าว แต่หากผู้ป่วยมีอาการไม่ถึงร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิว โรคมักจะสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้เพียงยาทา

สำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน การปฏิบัติตนเพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเคล็ดลับ 4 ประการในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีดังนี้ 1. เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน...ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินอย่างชัดเจน เพื่อสามารถดูแลและรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป 2. ดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด...ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่ายกายและจิตใจ

3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น....ได้แก่ การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น 4. สังเกตและป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน...เช่น หากว่าเกิดอาการปวดบริเวณข้อใด ข้อหนึ่งในร่างกายจะต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ ผู้ป่วยบางรายที่ปล่อยให้ตนเองอ้วนมากเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไข้ที่มีน้ำหนักปกติ

“เนื่องจากโรคสะเก็ดเงิน ถือเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัดและคนทั่วไป อาจยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจน จนมองว่าเป็นโรคติดต่อและเกิดจากความสกปรก ซึ่งล้วนแต่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเพิ่มมากขึ้น สถาบันโรคผิวหนังจึงร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนัง เพื่อเริ่มดำเนินการทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคสะเก็ดเงินระดับประเทศขึ้น โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติโรคสะเก็ดเงินทั่วประเทศ รวมไปถึงแนวทางในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน และแนวทางในการดูแลคนไข้โรคสะเก็ดเงินอย่างถูกวิธีซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมจากคนในสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยสะเก็ดเงิน” ดร.นพ.เวสารัช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น