สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ขอนแก่น ชู “สนูซีเลน” เทคโนโลยีใหม่ ใช้กระตุ้นประสาทการรับรู้เด็กป่วย “สมาธิสั้น ออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า” ช่วยผ่อนคลาย เรียนรู้ดีขึ้น กระตุ้นประสาทรับรู้พื้นฐาน 7 ด้าน
วันนี้ (15 ม.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ขยายบริการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นทั่วประเทศครอบคลุมทั้ง 4 ภาค คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และ กทม. โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคที่พบมากในอันดับต้นๆ และมีผลต่อการเรียน ได้แก่ โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งที่ผ่านมา เข้าถึงบริการไม่ถึงร้อยละ 10 และปัญหาสุขภาพจิตจากยาเสพติด ซึ่งจะเน้นตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การประเมินอาการความรุนแรง และการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านและโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงการส่งต่อรักษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญทั้ง 4 ภาค และการป้องกันกลับมาเป็นซ้ำ หากการดำเนินการในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นมีความครอบคลุม ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชในผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งประมาณร้อยละ 50 มักจะเริ่มแสดงอาการป่วยช่วงอายุ 12 - 24 ปี
พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถาบันฯ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรับส่งต่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีอาการรุนแรง จาก 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกเข้ารักษาจำนวน 6,700 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 10 ต่อปี โรคที่พบอันดับ 1 ได้แก่ โรคสมาธิสั้นร้อยละ 47 รองลงมาคือ พัฒนาการผิดปกติ เช่น การสื่อภาษาร้อยละ 19 ในด้านการรักษาเด็กที่ป่วยโรคจิตเวช ต้องใช้หลายระบบร่วมกัน ทั้งยา การปรับพฤติกรรม อารมณ์ สังคม สถาบัน ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เรียกว่า “สนูซีเลน (Snoezelen)” ให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นห้องใช้ฝึกประสาทการรับความรู้สึกของผู้ป่วย เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา โดยใช้แสง สี เสียง และกลิ่น ส่งเสริมและกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกพื้นฐานที่สำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ การมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น การรับรส กายสัมผัส การทรงตัว และการรับรู้ของเอ็นกระดูกและข้อต่อ ช่วยให้เด็กอาการสงบ ผ่อนคลาย มีการรับรู้ การเรียนรู้รวมถึงมีสมาธิดีขึ้น โดยให้การบำบัดทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม
พญ.กุสุมาวดี กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมีร้อยละ 3-5 ของผู้ป่วยนอก กว่าครึ่งมีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า ขณะนี้สถาบันฯสามารถให้บริการได้ 12 เตียง เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องใช้แบบสหวิชาชีพ ทำให้บางเดือนมีผู้ป่วยรอคิวเข้ารักษาแบบผู้ป่วยใน 3 - 5 คน จึงได้เร่งรัดเพิ่มบริการห้องพิเศษอีก 10 ห้อง และมีผู้ปกครองร่วมดูแลด้วย แต่งบประมาณไม่เพียงพอ จึงจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อนำมาใช้ดำเนินการในส่วนนี้ และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสถานบริการเพื่อดูแลลูกหลานที่ป่วย กำหนดจะเปิดให้บริการห้องพิเศษในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ประชาชนที่มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเพิ่มได้ที่กองทุนพัฒนาสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารกรุงไทยสาขาขอนแก่นหมายเลขบัญชี 405-0-81379-3 และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ หรือติดต่อที่หมายเลข 043-910770-1 ต่อ 1206, 1215 ในวันเวลาราชการ