xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์ 4.0 ยังน่าห่วง เมื่อ “เด็กไทย” ยังใช้สื่อและเทคโนโลยีไม่เป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...นฤมล จำรูญสุข

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2561 นี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คำขวัญไว้ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” หากพิจารณาดีๆ จะสะท้อนว่า “เด็กไทย” ในปัจจุบันยังคงใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่เป็น!!

คำว่าไม่เป็นในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่คล่องมือ แต่หมายถึงใช้ไปในทางที่ถูกต้องหรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและคนอื่น ไม่สร้างผลกระทบ และมีความรู้เท่าทัน โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ยังทำได้ไม่ดีพอนั่นเอง

สะท้อนได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น คลิปนักเรียนหญิงแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ใส่ชุดพละตบตีกันแล้วมีพวกพยายามถอดกางเกงประจาน การไลฟ์สดฆ่าตัวตายต่างๆ หรือแม้แต่การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพเพื่อต่อว่าหรือประจานคนอื่น ไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่าการกลั่นแกล้งกันทางโลกออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นมาเป็นข่าวเท่านั้น

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเรียนรู้และหาความรู้ต่างๆ จากเทคโนโลยีมากขึ้น และยังใช้สื่อใหม่ๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ในการผ่อนคลาย หรือใช้ในเรื่องที่เขาสนใจเฉพาะตัว ทำให้มีความตั้งใจและจดจ่อกับสิ่งนั้นเป็นเวลานาน ดังนั้น ต้องสร้างสื่อที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก แต่แฝงไปด้วยความรู้ก็จะยิ่งมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือต้องทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ โดยต้องได้รับการเรียนรู้ ตั้งแต่เริ่มใช้สื่ออย่างไรถึงเกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม ต้องได้รับการปลูกฝังที่เหมาะสม และมีวินัยในการใช้สื่อ จะช่วยให้เด็กสามารถใช้สื่อได้ตามปกติ และปกป้องคุ้มครองตนเองจากสื่อที่มีผลกระทบที่ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้

การปลูกฝังและการสร้างวินัยในการใช้สื่อนั้น พญ.พรรณพิมล แนะนำว่า เด็กยังเป็นวัยที่ไม่สามารถวิเคราะห์หรือแยกแยะสื่อได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้ามาควบคุมดูแลและสอนให้เด็กรู้ว่า สื่อประเภทใดที่ไม่เหมาะแก่เขา และสื่อประเภทใดที่เหมาะแก่เขา พ่อแม่ควรใช้เวลาอยู่กับลูกให้มาก และทำให้ลูกเห็นอยู่บ่อยๆ ว่าการสื่อและเทคโนโลยีที่ถูกต้องทำอย่างไร เวลาไหนที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการเลือกเสพสื่อ เด็กจะเกิดการจดจำและปฏิบัติตามเอง แต่ถึงอย่างไรพ่อแม่ควรเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันสื่อก่อนที่จะไปสอนลูก

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องระวังเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการใช้สื่อมากเกินไป เนื่องจากจะทำให้เด็กมีสภาวะใจร้อนมากขึ้น มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เนื่องจากสื่อนั้นมีความรวดเร็วซึ่งจะทำให้เด็กติดเป็นนิสัย ว่าทำอะไร หรือต้องการอะไร ต้องรวดเร็วทันใจ ไม่ชอบความเชื่องช้า จะส่งผลกระทบไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าหากทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ เด็กก็จะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ถ้าเป็นเด็กเล็กจะกระทบในเรื่องสมาธิ เพราะว่า สื่อเคลื่อนไหวตอบสนองอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้เด็กไม่มีเวลาจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือว่าไม่ได้พัฒนาในเรื่องสมาธิมากพอ พ่อแม่ครูอาจารย์เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเด็ก ควรเตรียมความพร้อมด้วยการใช้เวลาร่วมกัน โดยทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องการใช้สื่ออย่างถูกต้อง เรียนรู้เท่าทันสื่อ รู้จักแยกแยะ และดูแลตัวเองได้ และบอกผลเสียให้เค้าได้รับรู้ด้วยว่า ผลเสียที่ตามมาคืออะไร ถ้าเด็กได้รับการดูแลจากครอบครัว และคนรอบข้างที่ดี เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

สำหรับการเลี้ยงลูกในยุคเทคโนโลยีหรือดิจิทัลนั้น พญ.พรรณพิมล ระบุว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กต้องพิจารณาหลักการให้สอดคล้องกับเรื่องการสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก และความเหมาะสมในด้านการรับสื่อ เพราะสื่อบางประเภทก็ยากที่เด็กจะศึกษาและเข้าใจด้วยตัวเอง ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมและให้คำปรึกษากับเด็ก เพราะผู้ปกครองเป็นบุคคลที่คลุกคลีกับเด็กมากที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อที่จะสอนและแนะนำให้เด็กใช้สื่ออย่างถูกต้อง และในภายภาคหน้า เด็กจะต้องเติบโตไปในยุคเทคโนโลยี

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเห็นว่า ในสภาวะการมีเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวันนั้นเยอะมาก และสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นปัญหาคือ การรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีเหล่านั้น เราควรที่จะควบคุมเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม แต่กลับกลายเป็นเทคโนโลยีครอบงำเราแทน จนกระทั่งเราไม่สามรถเป็นตัวของเราเองได้ ยกตัวอย่าง“เด็กติดเกม เด็กจะหมกมุ่นอยู่ที่กับการเล่นเกม และละเลยทำกิจกรรมที่เด็กควรทำ เช่น การเล่น การเรียน และการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา จึงส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า เพราะฉะนั้น เบื้องต้นควรจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การทำให้ห้องเรียน กลายเป็นห้องเรียนแสนสนุก ให้เด็กสามารถทำกิจกรรมและโต้ตอบกับครู อาจารย์ มากกว่าการให้เด็กนั่งฟัง และเสริมทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เราจะไม่ยอมเป็นทาสของเทคโนโลยี แต่เราจะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์

สำหรับการสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อนั้น ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการด้านสื่อ มีข้อแนะนำ ว่า ต้องเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสื่อว่าเป็นสื่อยุคดิจิทัล และกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5G ต่อไปจะก้าวเข้าสู่ยุค Internet of things เพราะฉะนั้นวิธีการเดิมๆ อาจจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ต้องให้เด็กรู้จักวิเคราะห์และแยกแยะด้วยตัวของเขาเอง ว่าสิ่งใดที่มีประโยชน์และมีโทษ เพราะการที่เราจะไปบังคับให้เด็กรับสื่อตามใจเรานั้นเป็นไปได้ยาก เราต้องยอมรับว่าทำไม่ได้ เพราะสื่อออนไลน์ เช่น สมาร์ทโฟนนั้นอยู่กับเราแทบคลอด 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ทางโรงเรียน หรือสถาบันต่างๆ และสถาบันครอบครัว ก็ต้องสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์เนื้อหา คอนเทนต์ต่างๆ ในเครื่องมือสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ว่าเหมาะสมและมีประโยชน์ต่อเด็กหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการง่ายๆ ในการสอนให้เขารู้เท่าทันสื่อ

และด้วยคำว่าเด็กนั้น ยังไม่ถึงวัยที่เขาจะรู้เท่าทันสื่อด้วยตัวของเขาเอง พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง จะต้องรู้เท่าทันสื่อก่อน นี่เป็นการบ้านที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่สมัยใหม่ ครอบครัวที่มีฐานะ อาจจะซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ให้ลูกได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า เรากำลังเลี้ยงลูกด้วยสื่อและเทคโนโลยีโดยขาดการอบรมสั่งสอน ดูแล และขาดการใส่ใจในพฤติกรรมที่เขาใช้สื่อมากน้อยขนาดไหน” ดร.สิขเรศ กล่าว

ผู้ใหญ่ในยุคดิจิทัลเองก็ไม่ต่างกัน คงต้องย้อนกลับมาดูตัวเองก่อนว่า ตัวเองใช้สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกต้องเหมาะสม และรู้เท่าทันประโยชน์และโทษของสิ่งเหล่านี้ดีพอหรือยัง ถึงจะปลูกฝังสอนเด็กยุคใหม่ให้รู้เท่าทัน และสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น