ทันทีที่เข้าสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สายตาจะสัมผัสความยิ่งใหญ่ ร่มรื่น เขียวขจีของต้นยางนายืนตระหง่านเรียงรายตลอดสองฝากถนนจำนวน 886 ต้น ทำให้ยานยนต์ที่แล่นผ่านไปมาดูมีขนาดเล็กลงทันที ซึ่งต้นยางนาถนนสายดังกล่าว พร้อมทั้งต้นยางนา วัดเจดีย์หลวง ต้นจามจุรี สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา และต้นมะจำโรง อ.สันป่าตอง กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศเป็น"รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" ปี 2560
เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี นายวีระ กล่าวว่า วธ.ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำเส้นทางท่องเที่ยว รุกข มรดกของแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวมาวัดไหว้พระ ชมศิลปะล้านนา หรือขึ้นดอยสัมผัสธรรมชาติและวิถีถิ่น ซึ่งจะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย
“ต้นไม้ของแผ่นดิน บางต้นปลูกโดยสองมือของบรรพบุรุษ บางต้นขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปต้นไม้มีการเจริญเติบโตถือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ส่วนต้นยางนา ที่วัดเจดีย์หลวง จากประวัติของวัดสันนิษฐานว่า ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยพระเจ้ากาลวิละ องค์ที่ 1 ช่วงที่ย้ายเมืองจากเวียงป่าซาง (ลำพูน) มาตั้ง ณ เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวร ในปัจจุบันด้วยความสูงใหญ่และอายุที่ยืนยาวกว่า 200 ปี ประชาชนจึงให้ความนับถือและนิยมนำไม้มาค้ำตามความเชื่อที่ว่า ไม้ใหญ่มักจะมีเทพเทวาสถิต หากผู้ใดได้นำไม้มาค้ำต้นไม้ไว้เสมือนกับช่วยประคองดวงชะตาให้เจริญและมั่นคง เพราะฉะนั้นคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ควรอนุรักษ์ต้นไม้เหล่านี้ให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป”
นายวีระ กล่าวว่า ส่วนการอนุรักษ์ต้นไม้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับกรมป่าไม้ ตลอดจนนักวิชาการ (หมอต้นไม้) เขามาตรวจสอบต้นไม้ทุกต้นว่ามีโรคพืชหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีโรคพืชจะดูแลรักษา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จะตกแต่งกิ่งก้านให้ต้นไม้ดูงดงามด้วย นอกจากนี้ยังได้มอบให้ท้องถิ่นช่วยกันดูแลต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองด้วย
“วันนี้เรามาเที่ยงเชียงใหม่ นอกจากจะได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม สัมผัสธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงาม ยังมี “รุกข มรดกของแผ่นดิน 4 รายการ กลุ่มต้นยางนาถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน อาจพูดได้ว่าเป็นถนนสายเดียวของโลกที่มีต้นยางนาจำนวน 886 ต้น ต้นยางนา ที่วัดเจดีย์หลวง ต้นจามจุรี ที่สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา ซึ่งมีลักษณะลำต้นแผ่ขยายแตกกิ่งก้านสาขาไปโดยรอบ งามตระการตา ได้รับรางวัลจากการประกวดต้นไม้ใหญ่จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ปี 2548 และต้นมะจำโรง อายุกว่า 300 ปี อ.สันป่าตอง อยู่ใกล้สี่แยกไฟแดงตลาดมะจำโรง”
ด้านนายสยาม อินถาโท หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเพาะต้นกล้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเพาะต้นกล้าพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก ประดู่ พยูง มะค่า และนับตั้งแต่ วธ.ประกาศกลุ่มต้นยางนาขึ้นเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน ได้มีชาวบ้าน วัด องค์กร ให้ความสนใจมาขอกล้ายางนาอย่างต่อเนื่องและนับวันจะมาขอมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เตรียมเพาะกล้ายางนาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชน
“จากการสอบถามผู้ที่มาขอกล้ายางนา ส่วนใหญ่จะเป็นพระวัดป่า เพราะเขามีพื้นที่ขนาดใหญ่ ปลูกให้เกิดความร่มรื่น ขณะที่องค์กรของรัฐหรือเอกชน จะนำไปปลูกเป็นป่าชุมชน ส่วนชาวบ้านมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เพราะยางนาเมื่อเติบโตจะมีลำต้นขนาดใหญ่มากและไม่นิยมปลูกใกล้บ้านเรือน ซึ่งประชาชนที่มาขอกล้าไปปลูกส่วนมากจะนำไปปลูกในที่นาหรือที่สวน”
นางขนิษฐา พุ่มประทีป ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลสารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เพื่อให้คนในเด็ก เยาวชน ตลอดจนคนในชุมชนตระหนักถึงประโยชน์ต้นยางนาที่ปลูกอยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี อีกทั้งต้องการให้ชาวบ้านรู้สึกมีส่วนร่วมจึงมีโครงการอนุรักษ์ยางนา โดยจัดพิธีบวชต้นไม้ทุกปี เพื่อให้ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลต้นไม้ และหากต้นยางนาอยู่หน้าบ้านใครให้ช่วยดูแลรดน้ำรวมถึงคอยสังเกตว่ามีโรคพืชมาทำลายหรือไม่ ที่สำคัญไม่ตัดต้นไม้
นอกจากนี้ตั้งฐานการเรียนรู้ เช่น การนำใบยางนางมาทำเป็นที่คั่นหนังสือ และนำมาประดิษฐ์เป็นกระถางใส่ต้นไม้ ซึ่งกระถางจะเป็นปุ๋ยอย่างดีช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต เป็นต้น
"โครงการอนุรักษ์ยางนา เราทำกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปีแล้ว สำหรับปีนี้ทำที่คั่นหนังสือเพราะต้องการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน รู้คุณค่าของยางนา คือ ต้องการให้เห็นว่าใบไม้หนึ่งใบก็มีประโยชน์และถ้าเด็กนำมาคั่นหนังสือและเห็นทุกวันเขาจะซึมซับร่วมอนุรักษ์ยางนา ส่วนกระถางต้นไม้ เรามาคิดว่าใบไม้ที่ตกทับถมอยู่บริเวณใต้ต้นนั้นเป็นปุ๋ยชั้นดี จึงมีแนวคิดว่าหากนำมาอัดเป็นกระถางต้นไม้ พอเราปลูกต้นไม้ใส่ไว้ในกระถางยางนาสามารถนำไปลงดินทันที” นางขนิษฐา กล่าว