สธ. แจงยังไม่คลอดมาตรการ “ภาพคำเตือนเหล้า” เหตุมีการเปลี่ยนประธานอนุกรรมการร่างฯ พ่วงผลการศึกษาลดนักดื่มยังไม่ชัด เร่งทำการศึกษาเพิ่ม พร้อมดูสถานการณ์ต่างประเทศที่จ่อออกมาตรการเช่นกัน ป้องกันถูกฟ้องร้อง
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความล่าช้าในการออกมาตรการรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า หลังจากประกวดคัดเลือกรูปภาพคำเตือนแล้ว ศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้นำไปศึกษาถึงผลประสิทธิภาพและประสิทธิผล เมื่อได้ข้อสรุปคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ก็จะเสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ ก่อนบรรจุเป็นกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ คาดว่า จะนำมาใช้ให้ทันปี 2560 แต่ติดขัดในหลายเรื่องทั้งการเปลี่ยนตัวประธานคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ และผลการศึกษายังมีน้ำหนักไม่พอว่าหากมีการใช้แล้วจะมีจำนวนนักดื่มน้อยลงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาเพิ่มให้แน่ชัด
“ขณะนี้ทราบว่ามีประมาณ 7 - 8 ประเทศ กำลังเสนอขอใช้ฉลากรูปภาพคำเตือนเช่นเดียวกัน และยังมีปัญหาของข้อความอยู่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยปัญหาสุราและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการจับตาดูสถานการณ์ และปัญหาต่างๆ ว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะมีการนำมาใช้ และต้องแก้ไขในส่วนไหน อย่างไร เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจนและป้องกันการถูกฟ้องร้อง เพราะไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่จะมีการใช้ฉลากซองบุหรี่แบบเรียบในบางประเทศก็เกิดปัญหาฟ้องร้องจากผู้ประกอบการเรื่องเครื่องหมายการค้ามาแล้ว” นพ.นิพนธ์ กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า การลดจำนวนนักดื่มจะใช้เพียงมาตรการเดียวไม่ได้ หากมีการใช้ฉลากคำเตือนก็ต้องควบคู่กับมาตรการอื่น ทั้งการตรวจจับ การใช้เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งก็มีปัญหาเครื่องไม่เพียงพอ แต่คิดว่าเครื่องราคาไม่แพงในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นจะมีเครื่องเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ตามร้าน หากเมาก็จะมีการกักตัวไว้ในร้าน ก่อน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดี เพราะญี่ปุ่นมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ดังนั้น หากประเทศไทยมีการใช้หลายๆ มาตรการร่วมกันกับการบังคับใช้กฏหมายจะสามารถควบคุมจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ การเกิดโรค และอุบัติเหตุจากการดื่มสุราได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต