รมช.ศธ. ย้ำ “ครู” ต้องเปลี่ยนวิธีสอนให้ทันยุคดิจิทัล ส่วนครูแนะแนวต้องเปิดมุมมองให้กว้าง เห็นทิศทางโลกอนาคต ไกด์ไลน์เด็กได้ถูก เตรียมเดินหน้าหลักสูตรออนไลน์ในรั้วอุดมศึกษา นำร่อง 7 มหา'ลัยสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่
วันนี้ (5 ม.ค) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษภาคฤดูร้อน พ.ศ. 2562 (แบรนด์ซัมเมอร์แคมป์ ครั้งที่ 30) และงานสัมมนาครูและอาจารย์แนะแนวทั่วประเทศ พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทยยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0” ว่า ในยุคดิจิทัลครูต้องเปลี่ยนสื่อการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสม จะต้องใช้เทคโนโลยี กราฟิก หรือ อนิเมชัน เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก และต้องมีช่องทางที่ครูและอาจารย์สื่อสารกับเด็กและประเมินเด็กได้ ที่ผ่านมา เป็นระบบการสอนที่ให้เด็กนั่งอยู่ในห้องเรียน ใช้วิธีจำและเข้าใจ ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญา ต้องมีการสอนแบบปฏิบัติจริง และเรียนรู้ตามสถานที่จริง ไม่ใช่สอนแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว เพื่อที่จะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น เพราะต้องการยกระดับให้ประเทศไทยแข็งขันกับนานาชาติ ส่วนครูแนะแนวที่มีความสำคัญในการแนะแนวการศึกษาแก่นักเรียน ก็ต้องปรับตัวให้ทัน ต้องมีมุมมองที่เปิดกว้าง เห็นทิศทางของโลกในอนาคต และรู้ศักยภาพของนักเรียนว่าควรจะก้าวไปในทิศทางใด
“ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เด็กก็เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี การเรียนรู้นั้นมีหลากหลายวิธี แต่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ต่อเด็กได้ง่าย คือ การเรียนรู้จากเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย และเมื่อไรก็ได้ โดยเนื้อหาจะต้องตอบโจทย์ต่อเด็กในภายภาคหน้า ดังนั้น เราจะต้องเตรียมตัวที่จะต้องเปลี่ยน ไม่ใช่รอให้มีนโยบายออกมา โดยเฉพาะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0 ปรับวิธีการสอน ซึ่งในอนาคตก็จะเน้นในหลักสูตรที่เป็นออนไลน์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยมีระบบอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี ได้แก่ ยูนิเน็ต แต่ยังมีความเร็วที่น้อย ศธ.เตรียมที่จะของบประมาณรัฐบาล เพื่อเพิ่มปริมาณการรับและส่งข้อมูลให้มากขึ้น ตั้งเป้าว่าจะขยายให้ได้ 1,000 กิกะไบต์ เพื่อรองรับการเรียนระบบอินเทอร์เน็ต” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะวิชาต่างๆ จะเรียนแบบบูรณาการข้ามคณะ ซึ่งตนจะนำร่องใน 7 มหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นที่ชักชวนเข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ มหาวิทยาลัยเอกชน อย่างละ 1 แห่ง โดยจะเริ่มปีการศึกษา 2561 เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ โดยจะเป็นการรับสมัครในระบบทีแคส รอบที่ 5 ซึ่งเปิดกว้างให้มหาวิทยาลัยรับนิสิตนักศึกษาอย่างอิสระ เบื้องต้นหลักสูตรที่ให้บูรณาการข้ามคณะนั้น จะเป็นการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยหรือคณะใดสามารถทำได้ รัฐบาลก็จะมีงบประมาณสนับสนุนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิต โดยสาขาที่กำลังเป็นความต้องการมากขณะนี้คือ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ เป็นต้น