อภ. ร่วมจุฬาฯ พัฒนา “ยาใหม่” ประเดิมผลิตยาพ่นจมูก ตัวแรกในไทย ใช้รักษาผู้ป่วยภูมิแพ้ ผิดปกติทางจมูก ทั้งคัน จาม น้ำมูกไหล คัด แน่นจมูก คันตา แสบตา ตาแดงจากโรคเยื่อบุจมูกอักเสบ
วันนี้ (5 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภญ.อภิชชา โยธาประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้ว ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม การศึกษาความคงสภาพ การศึกษาพรีคลินิก และการศึกษาคลินิก ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาใหม่จากยาตัวเก่าที่เคยขึ้นทะเบียน โดยมุ่งหวังเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาให้มากขึ้น และยาสามัญรายแรกที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น (First generic drug) ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ การบริหารทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ภญ.อภิชชา กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทย มีค่าใช้จ่ายด้านยาเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลัก โดยมากกว่าครึ่งเป็นยาราคาสูงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อภ. ในฐานะหน่วยงานสำคัญของประเทศ ในการส่งเสริมการเข้าถึงยาสามัญที่มีคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม จึงมีการพัฒนา และเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ทั้งในด้านบุคลากร และมาตรฐานการผลิต รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาใหม่จากตัวยาเก่าที่เคยขึ้นทะเบียน และยาสามัญรายแรกที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น มีประสิทธิผลการรักษาที่สูงขึ้น โดยโครงการแรกที่ อภ. จะดำเนินการร่วมกันกับศูนย์วิจัยและพัฒนายา จุฬาฯ คือ การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาพ่นจมูก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย โดยยาดังกล่าวใช้รักษาผู้ป่วยภูมิแพ้ ใช้รักษาอาการ ผิดปกติทางจมูก เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัด แน่นจมูก อาการผิดปกติทางตา เช่น คันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงที่เกิดจากโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดเป็นเฉพาะฤดูกาล โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดเป็นตลอดทั้งปี
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า จุฬาฯ ได้ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายาฯ ขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาสารใหม่เพื่อให้ได้ตัวยาใหม่ ตลอดจนพัฒนาตัวยาเดิมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาใหม่ โดยใช้กระบวนการบูรณาการศาสตร์และนวัตกรรมสาขาต่างๆ ในการวิจัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งสององค์กรที่มาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ต่างก็มีจุดแข็งที่เมื่อได้มาร่วมมือกันจะสามารถช่วยกันพัฒนาศักยภาพในการผลิตยาใหม่ของอุตสาหกรรมยาในประเทศ ตลอดจนช่วยสร้างนักวิจัยทักษะสูงที่จำเป็นต่อการวิจัย และพัฒนายาใหม่ในประเทศ ทำให้เกิดโครงสร้างเกื้อหนุนการวิจัยและพัฒนายาใหม่ตามแบบมาตรฐานสากลอย่างยั่งยืน เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต
“การร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีข้อมูลทางวิชาการรองรับทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาสูง และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับประเทศ นอกจากนี้เรามุ่งหัวงเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต ไทยสามารถพัฒนายาใหม่เพื่อส่งออกต่างประเทศด้วยในที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว