หัวหน้าศูนย์ต้านทุจริต สธ. ยอมรับห้ามใช้ไฟหลวงชาร์จแบตมือถือ ขัดหลักปฏิบัติจริง เผยอยู่ระหว่างทำรายละเอียดแนบท้ายหรือเงื่อนไข เปิดช่องให้ชาร์จไฟได้บางส่วน ระบุมาตรการป้องกันใช้ทรัพย์สินราชการในประโยชน์ส่วนตนเดินหน้าตามข้อเสนอ ป.ป.ช.
จากกรณี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ โดยที่เป็นประเด็นดรามาคือ การห้ามนำโทรศัพท์มือถือมาชาร์จไฟในสถานที่ราชการ
ทั้งนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ความคิดเห็นที่น่าสนใจ คือ การห้ามชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือในสถานที่ราชการนั้น เป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไปและไม่ยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากบางส่วนก็ต้องใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวในการติดต่องานราชการ เมื่อแบตเตอ่รี่ลดลงหรือจะหมดจะใช้ไฟราชการในการชาร์จไม่ได้เลยหรือ ขณะที่บางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวติดต่องานราชการ ต้องออกค่าโทรศัพท์เองอย่างนี้ยุติธรรมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการห้ามใช้ไฟหลวงในการชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือส่วนตัวนั้น ไม่ได้มีเพียงประกาศของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะมีการออกมาเป็นกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจมาตั้งแต่ ส.ค. 2560 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมายปราบโกง 4 ชั่วโคตร โดยมาตรา 5 กำหนด ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
ทั้งนี้ มาตราดังกล่าวมีการระบุถึงการกระทำต่างๆ ที่นับเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ หรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย ซึ่งข้อนี้นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าการใช้สิ่งของในสำนักงานจะกลายเป็นความผิดหรือไม่ เช่น การชาร์จโทรศัพท์ หรือ ใช้ซองจดหมาย แต่ครั้งนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ถ้าตีความกันแบบนี้จะโอเวอร์ไปซึ่งต้องมีการออกกฎหมายลูก กฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานว่าอนุญาตให้อะไรแค่ไหนอย่างไร จะเสียบโทรศัพท์ได้กี่ชั่วโมง เป็นต้น
จากคำพูดของ นายวิษณุ สะท้อนให้เห็นชัดว่า หากห้ามไม่ให้ชาร์จโทรศัพท์มือถือในที่ทำงานราชการเลย คงเป็นเรื่องโอเวอร์เกินไป ดังนั้น การที่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. ออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยห้ามชาร์จโทรศัพท์ออกมาอย่างชัดเจนเลยนั้น จึงยิ่งทำให้คนมองว่าเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุหรือไม่
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอต่อ ครม.เรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ และคงมีการมอบหมายให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติ ซึ่ง สธ. ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้น จึงมีการออกมามาตรการเหล่านี้มา ซึ่งข้อห้ามต่างๆ ก็มักเป็นประเด็นที่พบบ่อย เช่น การใช้รถของราชการไปในกิจส่วนตัว เป็นต้น ส่วนเรื่องการห้ามชาร์จโทรศัพท์มือถือนั้น จริงๆ เรื่องนี้ยังต้องมีรายละเอียดแนบท้ายว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร เช่น ชาร์จได้กี่ชั่วโมง เป็นต้น เพราะถือว่าค่อนข้างขัดกับหลักปฏิบัติในความเป็นจริง หรือกิจวัตรประจำวัน เพราะก็ทราบดีจากการกระแสในสังคมออนไลน์ว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวในการติดต่องานราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดให้ชัดเจน ซึ่งคงไม่ได้ห้ามชาร์จไปเสียทั้งหมด