เข้าสู่เทศกาล 7 วันอันตราย ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับเทศกาลโศกนาฏกรรมบนท้องถนน จนกลายเป็นวัฒนธรรมความตายที่ต้องสังเวยกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อย่างเข้าสู่เทศกาล หรือ วันหยุด ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ โดยเฉพาะต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ บาดเจ็บ ล้มตาย สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์
มีข้อมูลทีน่าสำคัญจาก นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ปี 2560 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจาก 7,805 ราย เป็น 8,820 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ โดยตลอด 7 วัน พบเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 1 ใน 5 หรือ 20.45 เปอร์เซ็นต์ ประสบอุบัติเหตุโดยมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ถึง 1,864 เฉลี่ย 266.3 ราย/วัน หรือ 11 คน / ชั่วโมง
น่าตื่นตระหนก เมื่อกางข้อมูลดังกล่าวออกมา นี้คือ ความตายของเยาวชนไทยที่เกิดจากพิษน้ำเมา เป็นการสูญเสียชีวิตจากต้นเหตุจากภัยของแอลกอฮอล์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นบนท้องถนน และกลายเป็นวงจรอันตรายดื่ม - เมา - ขับ - ตาย ในอัตราเฉลี่ยที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากความสูญเสียชีวิต จากเหตุอันไม่ควร ในเชิงโครงสร้างประเทศไทยต้องเผชิญกับอันตรายของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบโดยรวม สร้างความเดือดร้อนให้สังคม โดย นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า งานวิจัยจำนวนมากสะท้อนถึงผลกระทบของสุรา คือ สาเหตุการตายของประชากรโลก มากถึง 3.3 ล้านคนต่อปี เฉพาะคนไทยตายจากน้ำเมาทุก 10 นาที ปีละ 5 หมื่นคน สุราเป็นสาเหตุของโรคถึง 200 ชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นอันดับที่ 4 ของสาเหตุการตาย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 90,000 - 150,000 ล้านบาท
ที่น่าห่วงคือ คนไทยสูงถึง 2.75 ล้านคน ติดสุรา มีพฤติกรรมดื่มแบบอันตราย อีกทั้งยังผลมีกระทบรอบตัวมากมาย เช่น 1 ใน 4 หรือ 24.6 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกคุกคามทางเพศ และทำร้ายร่างกาย ซึ่งความสูญเสียมากที่สุด คือ อุบัติเหตุและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทุกปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสองหมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำคัญของนักวิชาการเบื้องต้น น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา นับว่ามีมาตรการทางกฎหมายทีออกมาบังคับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แต่เนื่องด้วยผลของการบังคับใช้ ที่หย่อนยาน และ กฎหมายแตะไปไม่ถึง ทุนธุรกิจน้ำเมา
โดยเฉพาะปมปัญหาสำคัญในสถานการณ์เฉลิมฉลอง อย่างลานเบียร์ ที่ถือเป็น ต้นตอสำคัญของปัญหาพาคนไปตายบนท้องถนน
ทั้งนี้ เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขยายความปมปัญหาของลานเบียร์ ในเทศกาลปีใหม่ อย่างน่าพิจารณา ว่า ลานเบียร์ เปรียบเสมือนการทำการตลาดสีเทา มอมเมา และหลบเลี่ยงกฎหมายเป็นแหล่งเพาะคนเมาออกไปสู่ท้องถนน ปกติร้านเหล้าผับบาร์ผลิตคนเมาออกมามากแล้วแต่ เมื่อเข้าเทศกาลปีใหม่ยิ่งมีลานเบียร์เพิ่มขึ้น ปัญหาก็จะยิ่งซ้ำเติมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ธุรกิจน้ำเมาพยายามทุ่มอีเวนต์โหมการตลาดและเด็กเยาวชนเข้าสู่วงจรเร็วขึ้น แม้มีการติดป้ายเตือนแต่เอาเข้าจริงรูปแบบหน้าปะจมูก ทำเพียงพิธีกรรม ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นธุรกิจน้ำเมาทำเหมือนไม่มีตัวตน ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย และมักโยนความผิดให้ผู้บริโภค โดยกล่าวหาว่าปัญหาเกิดเพราะคนดื่มไม่รับผิดชอบ แต่ไม่เคยพูดว่า ตนเองขายอย่างรับผิดชอบหรือไม่ ปล่อยให้รัฐและสังคมไทย ต้องรับผลกระทบทุกอย่าง ทั้งปัญหาสุภาพ ครอบครัวแตกแยก อุบัติเหตุ อาชญากรรม ฯลฯ โดยธุรกิจร่ำรวยไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
ขณะเดียวกัน ภาครัฐทำงานแตะกับเรื่องนี้น้อยมาก แก้ปัญหาไม่ถูกจุด วนเวียนอยู่แบบนี้ ยิ่งปีใหม่ส่งเสริมให้คนดื่มกินมากขึ้น อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น กติกาหลายอย่างคลายลง ธุรกิจฉวยโอกาสโกยกำไร พร้อมกับสร้างคนเมาบนถนน และในสังคม หรือทำสวนทางกับการพยายามลดคนตายของทุกภาคส่วน แต่ธุรกิจเร่งส่งเสริมการตาย
ทั้งนี้ ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มองว่า รัฐเองไม่ควรผ่อนปรน แม้ปีใหม่จะเป็นโอกาสพิเศษ เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และหากเชื่อมโยงกรณีเมาแล้วขับที่ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ควรตามไปให้ถึงร้านเหล้า หรือ ลานเบียร์ ที่ขายด้วย เพราะเข้าข่ายขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ผิด พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ซึ่งบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำเรื่องนี้ได้จริงเชื่อว่าปัญหาคนเมาแล้วขับมาจากร้านเหล้า ลานเบียร์ จะลดลง คนขายเหล้าเบียร์จะระมัดระวังและทำตามกฎหมายมากขึ้น
แน่นอนว่า นี้คือโจทย์ใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะต้องจับตา 7 วันอันตรายในช่วงปีใหม่ ที่จะย่างกรายเข้ามาอีกไม่กี่อึดใจต่อจากนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องมาร่วมกันนับหนึ่ง 7 วันปลอดภัย และ ควรยุติเทศกาล ดื่มเมาขับตาย ที่เกิดขึ้นซ้ำซากจนกลายเป็น วงโคจรอันตราย ที่เวียนมาบรรจบทุกปีบนท้องถนน!