xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อยากินเองรักษา “โรคเกาต์” เสี่ยงแทรกซ้อน ทำลายข้อ-พิการ-ไตวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอห่วงคนไทยป่วย “โรคเกาต์” มากขึ้น หวั่นภาวะแทรกซ้อนหากรักษาไม่ถูกต้อง เสี่ยงทำลายข้อจนพิการ ถึงขั้นไตวายเรื้อรัง เหตุผู้ป่วยซื้อยากินเอง เตรียมจัดงาน Be Happy Gout เรื่องเกาต์...เราต้องรู้ ให้ความรู้ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วย

ผศ.พญ.กนกรัตน์ นันทิรุจ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่ปวดเรื้อรังชนิดหนึ่ง ถือเป็นโรคที่เก่าแก่ที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์ และยังเป็นปัญหาโรคข้อที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเกาต์ที่สูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานความเป็นอยู่ อาหาร สภาวะทางโภชนาการ เกินความพอดีในยุคปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก หรือพืชผัก ผลไม้หรือ น้ำผลไม้บางชนิด หรือ แอลกอฮอล์ ก็มีส่วนกระตุ้นการสร้างกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งหากรับประทานเข้าไปมากๆ ก็ทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงได้เช่นกัน

“สาเหตุของโรคเกาต์ เกิดจากภาวะกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล. ในเพศชาย และ 6 มก./ดล. ในเพศหญิง โรคเกาต์พบบ่อยในชายวัยกลางคนขึ้นไป หรือหญิงในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งการสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคเกาต์ขึ้นได้ โดย เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ ได้แก่ ข้อ ผิวหนัง และไต อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบๆ ข้อ หากคลำดูจะพบว่าอุ่นกว่าข้อเดียวกันในข้างตรงข้าม ข้อที่อักเสบในช่วงแรก มักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า หากทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบที่ข้ออื่นได้ด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือเป็นต้น” ผศ.พญ.กนกรัตน์ กล่าว

พล.ต.หญิง รศ.พญ.ไพจิตต์ อัศวธนบดี ที่ปรึกษาอาวุโส อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวของโรคเกาต์ คือ ภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยเกาต์ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องในระยะแรกจะเข้าสู่ระยะข้ออักเสบเรื้อรังหลายข้อ มีการทำลายข้อเกิดความผิดรูปและพิการ นอกจากนี้ ยังพบก้อนโทฟายที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากรวมตัวของผลึกเกลือยูเรต อาจเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะและท้ายที่สุด คือ โรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้น การรักษาโรคเกาต์ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน คือ การใช้ยาต้านการอักเสบ จนเมื่อข้ออักเสบหายสนิทแล้วก็จะพิจารณาให้ การรักษาระยะยาว ได้แก่ การลดหรือแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเกาต์และการใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโรคร่วม เช่น ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจหาเพื่อจะได้แก้ไขและให้การรักษาไปพร้อมๆ กันผู้ป่วยเกาต์ควรมีความรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง รู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งชนิดของอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคเกาต์

“สิ่งที่น่าห่วงใยอีกประการหนึ่ง คือ การที่ผู้ป่วยซื้อยารักษาตนเอง อาจแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น สมาคมรูมาติสซั่มฯ จึงตระหนักถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเกาต์ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันการปฏิบัติตนและรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากโรคนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับโรคได้และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะร้ายแรง จึงเตรียมจัดงาน Be Happy Gout เรื่องเกาต์...เราต้องรู้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้พร้อมแนวทางการรักษาเรื่องโรคเกาต์ พบกับหลากหลายเมนูสุดยอดที่ดีต่อโรคเกาต์ พร้อมกับฟังธรรมะเดลิเวอรี อยู่กับเกาต์อย่างไร...ให้ใจสุข กับ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ในวันที่ 14 ม.ค. 2561 บริเวณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 7 เซ็นทรัล แกรนด์ พระราม 9 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” พล.ต.หญิง รศ.พญ.ไพจิตต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น