xs
xsm
sm
md
lg

“ภาวะยักษ์” สูงใหญ่ผิดปกติ พบช้าในผู้ใหญ่ เสี่ยงโรคแทรกซ้อนอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แพทย์ชี้ “ภาวะยักษ์” ทำร่างกายสูงใหญ่กว่าคนปกติ มาจากรับฮอร์โมนเจริญเติบโตมากไป เผยในเด็กมักพบผู้ป่วยเร็ว แต่ผู้ใหญ่พบได้ช้า เหตุกระดูกหยุดเจริญเติบโต ทำให้ร่างกายโตช้า จนเกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งกระดูกหักง่าย มีปุ่มกระดูกงอกตามข้อ ข้อเสื่อม กระดูกพรุน ผิวหนังหนา แข็ง หยาบกร้าน ลิ้นใหญ่ผิดปกติทำหายใจไม่สะดวก

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรค Gigantism หรือ ภาวะยักษ์ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวสูงใหญ่กว่าคนปกติ แต่สัดส่วนของร่างกาย เท่าเดิมทุกอย่าง มักจะเกิดตั้งแต่เด็ก ซึ่งภาวะนี้มีสาเหตุมาจากในวัยเด็กได้รับ Growth Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยสร้างการเจริญเติบโตมากเกินไป ซึ่งเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนดังกล่าวทำงานผิดปกติ มีการผลิต Growth Hormone มากจนเกินไป ทำให้ร่างกายใหญ่โต โดยผู้ป่วยในส่วนมากจะมีความสูงเกิน 200 เซนติเมตร (2 เมตร) ถ้าเกิดโรคเกิดในวัยเด็กหรือในช่วงวัยรุ่น เป็นวัยที่กระดูกยังมีการเจริญเติบโตอยู่ จะส่งผลให้กระดูกและกล้ามเนื้อเจริญเกินปกติ ผู้ป่วยจึงไม่หยุดสูง จะสูงได้มากๆ และตัวใหญ่

“โรคนี้ในเด็กจะพบการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายที่เกิดได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ได้เร็ว และได้รับการรักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเกิดโรคนี้ในผู้ใหญ่ที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ สภาพร่างกายผู้ป่วยจะค่อยๆเปลี่ยนไปช้าๆ ไม่สูง หรือไม่ใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า จนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ” นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า อาการที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกยาว กว้าง หนา โดยเฉพาะ กะโหลก และกราม กระดูกเปราะกว่าปกติส่งผลให้กระดูกหักง่าย มีปุ่มกระดูกงอกตามข้อต่างๆ ส่งผลให้ ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ปวดข้อ นิ้วมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ใหญ่ ห่าง จากการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบๆ นิ้ว และโรคกระดูกพรุน ผิวหนังจะหนา แข็ง กว่าปกติ ผิวหยาบ แห้ง แต่ต่อมเหงื่อโตกว่าปกติจึงมีเหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อมัดโตแต่กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าปกติ ลิ้นใหญ่ผิดปกติ ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ มักเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือดหนาผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ก้อนเนื้องอกที่ศีรษะโตจะส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และก้อนอาจโตจนกดประสาทตา ส่งผลให้การเห็นภาพผิดปกติ มีฮอร์โมนเพศผิดปกติ ส่งผลต่อรูปร่างของอวัยวะเพศ ความรู้สึกทางเพศ การเจริญพันธุ์ และประจำเดือนผิดปกติ โรคนี้จะมีผลต่อต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ส่งผลให้การทำงานของต่อมเหล่านี้ผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานลดลง หรือทำให้เกิดโรคเบาหวาน

“การวินิจฉัยของแพทย์ คือ ซักประวัติ อาการ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูระดับ Growth Hormone และระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกซเรย์กระดูก โดยเฉพาะ กะโหลก กราม มือ เท้า และตรวจภาพต่อมใต้สมองด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ หรือ MRI เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ อาการ ขนาดก้อนเนื้อ และดุลพินิจของแพทย์ ด้วย 3 วิธีการรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ยาลดหรือต้านการทำงานของฮอร์โมน GH การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือการฉายรังสีรักษาที่ต่อมใต้สมอง ทั้งนี้ ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เร็วก่อนจะเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ป่วยมักมีอายุได้ยืนยาวเช่นเดียวกับคนทั่วไป” นพ.มานัส กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น