xs
xsm
sm
md
lg

ลานเบียร์เกลื่อนเมือง ทำ นร.เข้าถึงง่าย ย้ำเป็นอีเวนต์ผิด กม.ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


งานวิจัยชี้ชัด “ลานเบียร์” เปิดเกลื่อนเมือง ทำนักเรียนเข้าถึงง่าย บางที่ไม่ตรวจบัตร นักวิชาการย้ำชัดผิดกฎหมายเหตุขายตรง ทำสื่อโฆษณา โปรโมชันเพียบ สอดคล้อง “หมอนิพนธ์” ชี้ ลานเบียร์เป็นกิจกรรมอีเวนต์ สื่อสารการตลาดชัด ด้าน สคล. ชงตำรวจจับคนเมาแล้วขับ สาวให้ถึงร้านเหล้าลานเบียร์ที่ขายให้คนเมา

วันนี้ (28 ธ.ค.) ในเวทีเสวนา “มองรอบด้าน...ลานเบียร์กับสังคมไทย” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากลานเบียร์และกลยุทธ์ประเภทดื่มไม่อั้นของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 2,498 คน พบว่า นักเรียน ม.ปลาย ร้อยละ 34 เคยไปลานเบียร์ ร้อยละ 80.1 ดื่มเดือนละ 2 - 3 ครั้ง มีพฤติกรรมดื่มเป็นกลุ่มๆ สังสรรค์อาทิตย์เว้นอาทิตย์ วันเกิด ปีใหม่ ร้อยละ 37.2 เชื่อผิดๆ ว่าดื่มแล้วคลายเครียด สนิทกันมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาของเด็ก ม.ปลาย คือ มักไปลานเบียร์ย่อยๆ แทนลานเบียร์ใหญ่ที่มีการตรวจบัตร เพราะปัจจุบันลานเบียร์มักเปิดตามงานเทศกาลอาหาร เปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม แต่พบว่า ร้อยละ 80.2 ยังคงต้องการไปลานเบียร์ใหญ่ ส่วนผลกระทบ พบว่า ร้อยละ 45.5 เมา ร้อยละ 44.9 เสียเงินมากกว่าที่คิด ร้อยละ 3.4 ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 1.7 เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซต์ และร้อยละ 4.5 ถูกพ่อแม่ต่อว่า

ดร.ศรีรัช กล่าวว่า ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยพฤติกรรมและเหตุผลคล้ายกับเด็กมัธยม แต่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเด็กมัธยม โดยไปแทบเป็นปกติ ติดกันมากว่า 2 คืน และเป็นลานเบียร์ขนาดใหญ่เพราะอายุถึง ดื่มมากกว่าเด็ก ม.ปลาย 3 เท่า ค่าใช้จ่าย 2 - 3 พันบาท สูงกว่านักเรียน ม.ปลายอย่างน้อย 3 เท่า รายจ่ายของกลุ่มนี้เท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้ของครอบครัว ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็มาจากที่บ้าน ดังนั้น ย้ำว่าลานเบียร์เข้าข่ายผิดกฎหมายเรื่องการสื่อสารการตลาด ถือเป็นการขายตรง มีการโฆษณาสื่อสารตราสินค้า โดยมีการแปลงวัตถุสิ่งของที่ไม่ใช่โฆษณามาเป็นสื่อโฆษณาตราสินค้าตัวเอง ซึ่งข้อถกเถียงว่าการโฆษณาต้องเป็นการจูงใจนั้น การสื่อสารตราสินค้าหรือแบรนด์นั้นเป็นการจูงใจแน่นอน เข้าข่ายโฆษณา เพราะการสื่อสารแบรนด์เพื่อให้คนจำได้ ติดปาก และเมื่อพูดถึงจะนึกถึงประสบการณ์ที่เคยได้รับ เช่น รสชาติอร่อย บรรยากาศ ความสนุกต่างๆ ที่ได้รับจากการดื่ม จึงถือเป็นการจูงใจแน่นอน

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ปกติร้านเหล้าผับบาร์ผลิตคนเมาเยอะอยู่แล้ว แต่ปีใหม่นี้มีลานเบียร์ซึ่งเหมือนธุรกิจสีเทาเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเมาแล้วขับขึ้นอีก ดังนั้น ขอเสนอว่าปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ต้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเคยเสนอไปที่ตำรวจแล้ว นอกจากนี้ กรณีเมาแล้วขับที่ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ควรตามไปให้ถึงร้านเหล้า หรือลานเบียร์ที่ขายให้ด้วย เพราะเข้าข่ายขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โดยไม่ต้องตีความ ซึ่งบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำเรื่องนี้ได้จริงเชื่อว่าปัญหาคนเมาแล้วขับมาจากร้านเหล้าลานเบียร์จะลดลง คนขายเหล้าเบียร์จะระมัดระวังและทำตามกฎหมายมากขึ้น

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ลานเบียร์ไม่ได้เข้าข่ายการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบริการ แต่เป็นกิจกรรมในทางการตลาด เพื่อรองรับให้คนจดจำแบรนด์ได้ ซึ่งถือว่ามีความผิดเรื่องของการโฆษณาแน่นอน นอกจากนี้ กิจกรรมภายในลานเบียร์ก็ยังกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ด้วย ทั้งเรื่องของการส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการตลาด และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และอาจต้องตรวจสอบทั้งการจัดตั้งจุดจำหน่าย สถานที่ขายด้วย เพราะแม้จะมีใบอนุญาตขายสุรา แต่มาขายในสถานที่ห้ามขาย เลยเวลาที่ขายได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น