กรมสุขภาพจิต ส่งทีมจิตแพทย์ ดูแลเยียวยาจิตใจเด็กชาย 2 คน เหตุพ่อยิงแม่อาการสาหัส และยิงตัวเองตายหน้าโรงเรียน ป้องกันเกิดบาดแผลทางจิตใจ หรือโรคเครียดสะเทือนขวัญ วอนทุกฝ่ายอย่าถามความรู้สึกเหตุการณ์กับเด็ก อย่าตำหนิผู้เสียชีวิต
จากกรณีสามีภรรยาคู่หนึ่งทะเลาะวิวาทบริเวณหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านถนนนนทบุรี 1 ระหว่างมาส่งลูกทั้ง 2 คนเข้าโรงเรียน โดยพ่อยิงแม่บาดเจ็บอาการสาหัส และยิงตัวเองเสียชีวิตต่อหน้าลูกชายทั้ง 2 คน อายุ 6 ขวบ และ 9 ขวบ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560
วันนี้ (26 ธ.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในระยะเร่งด่วนได้ส่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ จากโรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ลงเยียวยาจิตใจเด็กทั้ง 2 คน รวมทั้งแม่ที่อยู่ระหว่างพักรักษาตัวที่ รพ.เกษมราษฎร์ ร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีแล้ว ซึ่งมีการประสานการดูแลร่วมระหว่างครูประจำชั้นของโรงเรียนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฐมพยาบาลบาดแผลทางใจของเด็กทั้ง 2 คน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบาดแผลทางจิตใจ หรือโรคเครียดสะเทือนขวัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง บุคลิกภาพ อารมณ์ การปรับตัว ขาดสมาธิในการเรียนของเด็ก พร้อมทั้งให้การดูแลครอบครัวทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดาของเด็กด้วย โดยทีมจะวางแผนดูแลในระยะยาวร่วมกับโรงเรียนอย่างเป็นระบบในวันที่ 28 ธันวาคม 2560 นี้ ซึ่งจะประเมินผลกระทบทางจิตใจทั้งนักเรียน ครู และกลุ่มผู้ปกครองด้วย
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็กทั้ง 2 คน เนื่องจากอยู่ในเหตุการณ์ และสูญเสียบิดา ซึ่งเด็กทั้ง 2 คน อยู่ในช่วงวัยที่มีพัฒนาการเต็ม สามารถรับรู้เหตุการณ์ได้ทั้งการเสียชีวิต และความรุนแรงในครอบครัว ประเด็นที่จิตแพทย์จะเน้นหนัก คือ การป้องกันผลกระทบรุนแรงทางจิตใจ หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญโดยตรงที่พบบ่อย 2 เรื่อง คือ 1. โรคเครียดเฉียบพลัน หรือ โรคเอเอสดี อาการโรคนี้มีตั้งแต่ ช็อก ตกใจ หวาดผวา มีนงง สับสน ภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ ในใจ ฝันร้าย นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า เด็กอาจรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองเป็นสาเหตุให้แม่บาดเจ็บ หรือไม่สามารถช่วยเหลือพ่อหรือแม่ได้ เด็กจะต้องได้รับการดูแลเยียวยาอย่างเร่งด่วนและใกล้ชิดจากทุกฝ่าย ทั้งครู จิตแพทย์ และครอบครัว เพื่อคลี่คลายอาการเครียดให้เด็ก เกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ และค่อยๆ ปรับตัวยอมรับกับสภาพเป็นจริงในปัจจุบันได้ ซึ่งทีมจิตแพทย์จะติดตามเป็นเวลา 1 เดือน โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
“การดูแลในช่วงนี้จะเน้นให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามปกติที่สุด คือ ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อนๆ ไม่ต้องให้หยุดเรียน สำหรับโรคที่ 2 คือ โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ โรคพีทีเอสดี (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD) ซึ่งโรคนี้มีความรุนแรงเรื้อรัง มักเกิดภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 3 - 6 เดือน ซึ่งเด็กทั้ง 2 คนนี้ จัดว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ เพราะอยู่ในเหตุการณ์ โรคนี้มีลักษณะอาการสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ คือ 1. นึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ 2. ไม่ยอมไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการดูข่าวประเภทเดียวกัน และ 3. ฝันร้าย โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นในวัยเรียนจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน มีปัญหาในการจำ อาจมีบุคลิกภาพเก็บตัว อารมณ์อาจซึมเศร้า ขาดความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและการปรับตัวในอนาคตได้” พญ.มธุรดา กล่าว
พญ.มธุรดา กล่าวว่า 2. ต้องระมัดระวังและขอความร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมทั้งเพื่อนๆ นักเรียนด้วย คือ ไม่ควรถามความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้ง 2 คน เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเหตุการณ์ขึ้นมาซ้ำอีก สิ่งที่ควรทำคือชวนเด็กเล่น ชวนพูดคุยในเรื่องที่ทำให้เด็กสนุกสนานและให้กำลังใจ จะช่วยให้เด็กมีพลังใจ จิตใจเข้มแข็ง และก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้ และไม่ควรตำหนิผู้เสียชีวิต” แพทย์หญิง มธุรดา
กล่าว
แพทย์หญิง มธุรดา กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่า การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว เป็นบ่อเกิดปัญหาความรุนแรงในสังคม จึงขอให้ทุกครอบครัวค่อยๆ พูดจาสื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ ให้กำลังใจและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน มีสติ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และไม่ควรพึ่งอาวุธแก้ปัญหา เพราะมีแต่ผลเสีย ไม่ก่อผลดีต่อทุกฝ่าย ทุกปัญหามีทางแก้ หากยังแก้ไขไม่ได้ ขอให้โทร.ปรึกษาสายด่วน คือ 1. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง และ 2. สายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์