xs
xsm
sm
md
lg

“ปอยส่างลอง” บวชเณรชาวไทยใหญ่เมืองสามหมอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อนุรักษ์สืบสานประเพณี “ปอยส่างลอง” โดยมี นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน และมีตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาล เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็ก เยาวชนในพื้นที่ ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

ปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว ของชาวไทยใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากเจ้าภาพหรือคนจัดงานยึดจารีตประเพณีพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกัน ผมเชื่อว่าปอยส่างลอง จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนแม่ฮ่องสอนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงจัดปอยส่างลอง เพราะเขาอยากเห็นวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ที่แท้จริง

นั่นคือ คำพูดของ นายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ผมไม่อยากให้จัดเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว อยากให้อนุรักษ์ ยึดประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาแต่บรรพบุรุษ ยกตัวอย่างเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการรื้อฟื้น “การทำข้าวแตกปั้น” ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เวลาทำเป็นอาทิตย์ เพราะมีหลายขั้นตอน ซึ่งแฝงเรื่องสังคม ความสามัคคี พอเรารื้อฟื้นการทำข้าวแตกปั้น ปรากฏว่านักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ขอลองทำ เราได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข ตรงนี้ถือเป็นเสน่ห์จูงใจนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตที่สังคมเมืองไม่มี

“การทำข้าวแตกปั้น คือ การนำเอาข้าวตอกมาคลุกกับน้ำอ้อยเชื่อม แล้วปั้นเป็นก้อนกลมเล็กใหญ่แตกต่างกันไป ในปัจจุบันจะนิยมปั้นเป็นก้อนเล็กขนาดลูกเทนนิส การทำข้าวแตกปั้นจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสนุกสนานครึกครื้นได้มีการพูดคุยกัน สร้างความรู้สึกสามัคคี”

นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนเครื่องอัฏฐบริขารในประเพณีปอยส่างลอง ผมเชื่อว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย จากอดีตจะประดิษฐ์จากของสด มีดอกเอื้องคำ แต่ปัจจุบันหายากและติดข้อกฎหมาย จึงเปลี่ยนมาใช้กระดาษ ใช้ดอกไม้พลาสติก แทน อีกอย่างคนรุ่นใหม่ ต้องออกไปทำมาหากินนอกจากบ้าน ไม่ค่อยมีเวลามานั่งประดิษฐ์ประดอย หันมาใช้วิธีการซื้อแทนเพราะง่าย สะดวก และรวดเร็ว แน่นอนเมื่อหลายคนหันมาเลือกซื้อตามร้านค้าหรือสั่งทำจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

สิ่งของเครื่องใช้ ปอยส่างลอง เครื่องดนตรีไทยใหญ่ ก๋องก้นยาว เป็นดนตรีหลักที่ประกอบงานปอยส่างลอง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน นอกจากนี้ ยังมีฆ้อง มีฉาบใหญ่ เครื่องทรงส่างลอง หรือเครื่องแต่งกาย ร่มทอง เป็นต้น และตามทำเนียบที่ปฏิบัติกันมา ก่อนบวช 7 วัน จะไม่ให้ออกนอกบ้าน โดยชาวไทยใหญ่เชื่อกันว่าถ้าใครได้นำบุตรของตนเองและของผู้อื่นเป็นส่างลอง ได้บวชเป็นสามเณรหรืออุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะได้อานิสงส์มากล้น

บรรยากาศภายในงานได้มีการสาธิตเครื่องบวช แม่ปั๋น พงษ์วดี ปราชญ์ชาวบ้านทำเครื่องบวชลูกแก้ว เล่าว่า ตนสอนการทำอุ๊บเจ้าพารา ต้นเงิน ต้นทอง ตุง และอื่นๆ เกี่ยวกับเครื่องอัฏฐบริขารให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาหลายแห่ง รวมถึงผู้สนใจ เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ไม่อยากให้สูญหาย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีคนสนใจเรียนน้อยมาก อาจเป็นเพราะขั้นตอนยุ่งยาก ต้องใช้ความอดทน ที่สำคัญใช้เวลาในการทำแต่ละชิ้นค่อนข้างนาน ทั้งๆ ที่ ใครที่มีความรู้ทำเป็น ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ไม่ใช่น้อย อย่างตนนอกจากสอนทำแล้วยังรับทำด้วย ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน จะมีคนสั่งทำจำนวนมาก พูดได้ว่าทำไม่ทันทีเดียว
“ปัจจุบันมีคนทำเครื่องอัฏฐบริขารไม่มากนัก ตนอยากอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้ ไม่อยากให้ความรู้สูญหาย จึงพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ชนิดไม่หวงวิชา เพื่อให้คนรุ่นใหม่สานต่อ พร้อมกันนี้ยังปลูกฝังให้ลูกศิษย์ถ่ายทอดความรู้ไปยังคนอื่นๆ ด้วย” แม่ปั๋น กล่าว

จากนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า จากเวทีเสวนาได้ประกาศเจตนารมณ์ การสืบสานประเพณี ปอยส่างลอง ดังนี้ 1. จะขับเคลื่อนประเพณีปอยส่างลองโดยอาศัยมิติหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 2. จะขับเคลื่อนประเพณีปอยส่างลอง โดยยึดความพอเพียง ความพอประมาณ ความเป็นเหตุ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3. จะขับเคลื่อนประเพณีปอยส่างลอง โดยยึดแนวทางตามบ่อเกิดประเพณีไต 4. จะขับเคลื่อนประเพณีปอยส่างลอง เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และ จะขับเคลื่อนประเพณีปอยส่างลอง ให้เป็นประเพณีวัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“การประกาศเจตนารมณ์เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ประเพณีปอยส่างลอง ที่โดดเด่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป หากเราเห็นว่า ที่ไหนจัดผิดเพี้ยนไป เราจะมาหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข เพื่อประเพณีปอยส่างลองคงความเป็นเอกลักษณ์ชาวไทยใหญ่”

ด้าน นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปอยส่างลอง เป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน เป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธ นิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม เพราะผู้ที่จะเป็นส่างลอง ร้อยละ 90 เป็นนักเรียน ทางกระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมส่งเสริมอนุรักษ์สืบสานประเพณีปอยส่างลองให้คงอยู่เคียงคู่แม่ฮ่องสอนต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น