xs
xsm
sm
md
lg

6 หนุ่มเด็กดนตรี ม.รังสิต เรียนดี กิจกรรมเลิศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ใครหลายคนอาจคิดว่าเลือกเรียนดนตรี สบายจะตาย วันๆ เล่นแต่ดนตรี ร้อง เล่น เต้น กันไปตามประสาจะเอาอะไรไปสู่เด็กสายอื่นๆเขาได้...มันไม่จริงเลย!! กว่าจะเรียนจบออกไปเป็นนักดนตรีได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยโดยเฉพาะที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต จริงจังแค่ไหน? พี่ๆ ทั้ง 6 คนจากครอบครัวคนดนตรี ขอแชร์ประสบการณ์จากการเรียนที่ไม่ใช่แค่เรียนๆ เล่นๆ แต่ต้องเรียนให้ดี เรียนให้ได้ และเพคเฟกด้วยกิจกรรมเพื่อการก้าวสู่การเป็น “นักดนตรี” ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

คนแรก ณภัทร กิตติวิไลลักษณ์ ชื่อเล่น มาร์ท นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาดนตรีแจ๊สศึกษา (Jazz Studies) เครื่องเอกกีตาร์ไฟฟ้า ปัจจุบันได้เกรดเฉลี่ย 3.81 เลือกเรียนที่วิทยาลัยดนตรีเพราะว่าได้ยินชื่อเสียงของอาจารย์วิทยาลัยมาจากรุ่นพี่ และได้มีโอกาสดูการแสดงดนตรีของวิทยาลัยด้วย ทำให้ผมมั่นใจที่จะเลือกเรียนที่นี่ ผมมี Julian Lage มือกีตาร์แจ๊สเป็นไอดอล ทำให้อยากเป็นมือกีตาร์แจ๊สบ้าง แน่นอนว่า กว่าจะไปถึงขึ้นนั้น ผมต้องทั้งเรียนทั้งซ้อมค่อนข้างหนัก แม้จะต้องนั่งดีดกีตาร์อยู่ทั้งวันก็ตาม และที่นี่นักศึกษาทุกชั้นปีจะมีกิจกรรม/การแสดงตลอดให้ได้โชว์ตลอด ไม่ค่อยว่างไปเตร็ดเตร่คณะอื่นๆ เลยครับ ต้องจัดตารางเวลาของแต่ละวันให้ดี พลาดไม่ได้ทั้งเรียนและงานแสดง “การมีโอกาสได้แสดงในงานต่างๆ ทำให้ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขกับทุกโชว์ที่ได้เล่น ทุกๆ งานจะมีบรรยากาศที่ต่างกัน ผู้ชมที่ต่างกัน ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับทุกๆ งานที่ได้เล่น” ทุกการแสดงต้องเต็มที่จริงจัง มิฉะนั้น อาจจะไม่ผ่านตาอาจารย์ได้ครับ

จิรณัฐ จรียะธนา หรือ น้ำ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการผลิตดนตรี (Music Production) เกรดเฉลี่ย 3.52 เลือกเรียนดนตรีเพราะเสียงดนตรีทำให้เรามีความสุขเลย ส่วนตัวชื่นชอบ Eric Clapton เพราะเขาเป็นคนดนตรีที่สามารถเล่นดนตรีและส่งมาถึงคนฟังได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งในด้านเทคนิคการเล่นกีตาร์ที่เรียบง่ายแต่มีคุณภาพ เนื้อร้องที่สื่อถึงคนฟังให้เข้าใจได้อย่างง่าย เช่นกันผมจะมีความสุขมากที่ได้เล่น ได้ทำเพลงให้คนอื่นได้ฟังผลงานของเราเอง เหมือนเป็นการแบ่งปันความสุขให้กับคนฟัง เวลาคนดูคนฟังมีความสุข สนุกกับเพลงเรามันก็ทำให้เรามีความสุขที่ได้ทำออกไปเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ผมต้องผ่านด่านการเรียนที่เข้มข้น และลึกซึ้ง ผมต้องตั้งใจเรียนให้เต็มที่ พยายามจดสิ่งที่ได้เรียนจากอาจารย์ไว้ทุกอย่าง เพื่อที่เวลาทบทวนเราจะได้เข้าใจและจับจุดได้ นอกเหนือจากการเรียนก็ทำกิจกรรมกับวิทยาลัย ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะดนตรีคือการทำงานเป็นทีม เป็นเรื่องสำคัญมากของนักดนตรีทุกคน ทุกการแสดงต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกกิจกรรมจะเป็นการฝึกตัวตนของเรา

ต่อมา ปลื้ม - นนทพัทธ์ ชื่นวาริน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการแสดงดนตรี (Music Performance) เครื่องเอกเชลโล่ เกรด 3.10 ผมเป็นนักศึกษาทุนความสามารถ ผมชอบที่วิทยาลัยดนตรีที่นี่อยากเข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านดนตรีที่นี่ครับ บรรยากาศที่ผมชอบมาก คือช่วงที่มีงานและต้องเล่นโชว์ในงานของคณะ เป็นช่วงที่จะได้เจอหน้าเพื่อนพี่น้องครบทุกคนเพราะต้องมาช่วยกันยกของ ขนย้ายไปที่ทำการแสดง ผมว่ามันเป็นโมเม้นที่เหนื่อยแต่สนุก ยกไปเล่นไปแซวกันตลอดทาง ผมว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นแบบบอกไม่ถูก อย่างน้อยก็ได้สนิทกับเพื่อนๆมากขึ้น และทุกครั้งที่ได้เป็นตัวแทนแสดงในงานต่างๆ รู้สึกภูมิใจตัวเองที่อาจารย์ไว้วางใจให้เราทำหน้าที่ และทุกครั้งก็จะทำอย่างเต็มที่ หลักสูตรของวิทยาลัยดนตรีจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ปฏิบัติและทฤษฎี จริงๆแล้วผมอ่อนทฤษฎีมาก ผมจึงใช้เวลานอกห้องเรียน พักเที่ยงหรือหลังเลิกเรียน ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์และเพื่อนๆ เพื่อทบทวน จากนั้นก็ทบทวนด้วยตัวเอง และซ้อมหลังเวลา 17.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะพอใจ

ดิว - อรุณพงศ์ ชัยวินิตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการผลิตดนตรี (Music Production) กับเกรดเฉลี่ย 3.41 ส่วนตัวผมได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรม Jazz Camp ที่วิทยาลัยดนตรีแล้วรู้สึกถึงความน่าอยู่ของบรรยากาศ และสังคมดนตรีที่นี่ อีกอย่างหลักสูตรของวิทยาลัยดนตรีที่น่าสนใจ อาจารย์ทุกคนมีคุณภาพมีความเป็นครอบครัวคอยดูแลกันเหมือนลูกหลาน เป็นพี่เป็นน้องกัน สำหรับบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเป็นนักดนตรี คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมจึงตัดสินใจมาสมัครเรียน พอได้มาเรียแล้วต้องบอกว่ามันคือความสุขจริงๆ ครับ ทำให้เรารู้ว่าชีวิตของเราจะมีความสุขกับอะไรได้บ้าง มันคือความสุขของคนร้องเพลงที่ได้ให้ความสุขกับคนดู แล้วเมื่อคนดูมีความสุขกับสิ่งที่เราทำมันมีความสุขมากยิ่งขึ้น ผมทำงานด้วยเรียนไปด้วย ก็ต้องยอมรับว่าถ้าเลือกทำงานด้วยเวลาที่จะพุ่งความสนใจในการเรียนอาจจะลดลงไปบ้าง ก็ต้องหาเวลาที่จะทำการบ้านมากขึ้น ซ้อมในส่วนที่เราอาจจะไม่ได้ซ้อมเหมือนเพื่อน อาจจะมีเวลาที่จะพักน้อยกว่าแต่ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกกิจกรรมมันก็คือประสบการณ์ ที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นในฐานะคนดนตรีครับเพราะฉะนั้นก่อนที่จะเลือกทำอะไรก็ต้องคิดให้ดีก่อนว่าเราทำไหวจริงๆหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วมันสามารถไปด้วยกัน ได้ทำงานได้ร้องเพลงถึงจะหนักหน่อยแต่เพื่อเป็นคนดนตรีที่มีคุณภาพก็โอเคครับ

คนที่สาม เสฏฐวุฒิ มิลตัน ชื่อเล่น พิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการแสดงดนตรี (Music Performance) เครื่องเอกไวโอลิน เกรดเฉลี่ย 3.69 ผมมีตั้งใจอยากเข้ามาเรียนไวโอลินกับครูเบิร์ด “ครูเบิร์ด คือ ไอดอลในดวงใจ” พอได้เข้ามาเรียนที่น่แล้วสำหรับผมคิดว่าการซ้อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ลำดับต้นๆของนักดนตรีก็ว่าได้ ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจัดการเวลาของตัวเองให้ดี แล้ววิเคราะห์ว่าในแต่ละวันจะสามารถซ้อมช่วงไหนได้บ้าง แต่ละช่วงจะซ้อมอะไรเป็นหลัก ตัวย่างเช่นผมจะซ้อมสเกลทุกเช้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จากนั้นจะซ้อมแบบฝึกหัดหรือเพลงอีกครั้งหลังเลิกเรียน และทำกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 18.00-22.00 น. เป็นประจำทุกวันครับ นอกจากการซ้อมแล้ว หากวันไหนผมรู้สึกว่าเรียนตามบทเรียนในห้องไม่ทันหรือไม่เข้าใจ ผมก็จะต้องเผื่อเวลานั่งทบทวน ฝึกซ้อม แล้วก็ทำความเข้าใจก่อนที่จะไปซ้อมต่อ หรือทำอย่างอื่น หากเรามีเวลาซ้อมที่มากพอ บวกกับความใส่ใจบนเส้นดนตรีที่เลือก ผมคิดว่าผมสามารถทำเรื่องเรียนและกิจกรรมออกมาได้ดี ดังนั้น ผมต้องไม่ควรพลาดครับ

สุดท้าย ปฏิทัศน์ จันทนากร หรือ เฟรน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการแสดงขับร้องละครเพลง (Vocal Performance) เกรดเฉลี่ย 3.10 เป็นคนชอบร้องเพลง ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นที่เดียวที่มาสอบเพราะรู้จักรุ่นพี่ในคณะ เขาบอกว่าที่นี่อบอุ่น มีแต่อาจารย์เก่งๆ ครับ ผมมี พี่ตูน Bodyslam เป็นแรงบันดาลใจ ที่จะเป็นนักร้องนักดนตรี ที่วิทยาลัยดนตรีผมรู้สึกได้รับโอกาส ได้ลองผิดลองถูก เป็นอะไรที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากโลกภายนอก มีความสุขทุกครั้งที่ได้ร้องเพลงกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และอาจารย์ การจัดตารางเรียนของผมจะพยายามแยกวิชาเรียนกับกิจกรรมออกจากกันครับ จะเน้นซ้อมเยอะๆ ซึ่งตรงนี้จะจัดตารางซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และที่ขาดไม่ได้ คือ พยายามไม่ขาดเรียนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น