xs
xsm
sm
md
lg

พยากรณ์ 7 โรคระบาดสูงปี 61 ยัน “ไข้หวัดใหญ่” เปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี อย่ากังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคเตือนปี 2561 ระวัง 7 โรคติดต่อ เผย “ไข้หวัดใหญ่ - ตาแดง - มือเท้าปาก - ฉี่หนู” แนวโน้มเพิ่มขึ้น ยันไวรัสไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี รอ WHO ประกาศใช้เชื้อใดผลิตวัคซีน เผย พบสายพันธุ์ B ระบาดปลายปีมากขึ้น พร้อมระวัง 2 ภัยสุขภาพ อุบัติเหตุจราจร ห่วงใช้มือถือจนเกิดอุบัติเหตุ พร้อมหมอกควันภาคเหนือ

วันนี้ (22 ธ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2561 “7 โรค และ 2 ภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังในปีหน้า” ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรค โดยใช้วิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรคและนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2561 เพื่อเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ มี 7 โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2561 ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคตาแดง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเมลิออยโดสิส

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า จาก 7 โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังปี 2561 มี 4 โรคที่พบว่าผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง โรคมือเท้าปาก และโรคฉี่หนู อย่างไข้หวัดใหญ่ปี 2559 เคยพยากรณ์จะมีผู้ป่วย 3 แสนคน แต่สิ้น ธ.ค. ปีนี้ น่าจะถึง 2 แสนคน สำหรับปีหน้าแม้จะพยากรณ์ว่าผู้ป่วยอาจอยู่ที่ 220,000 คน แต่ความเป็นจริงอาจไม่ถึงก็เป็นได้ ทั้งนี้ สำหรับกรณีข่าวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ จนวัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพนั้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ และเปลี่ยนทีละน้อย ซึ่งการเฝ้าระวังจะมีระบบในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับทางองค์การอนามัยโลกในทุกปี เพื่อตัดสินใจและประกาศว่าในแต่ละปีจะใช้เชื้อตัวใดในการผลิตวัคซีน ดังนั้น ในปี 2561 ยังต้องรอการประกาศอยู่ อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2560 พบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ B มากขึ้นจึงคาดว่าปี 2561 จะระบาดด้วยสายพันธุ์นี้มากขึ้น

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า 7 โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังปี 2561 คือ 1.โรคไข้เลือดออก คาดว่า ปี 2561 จะมีผู้ป่วยตลอดทั้งปี 50,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 ที่พบ 50,033 ราย โดยอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นใน มิ.ย.- ก.ย. จะพบผู้ป่วย 4,500 - 9,000 รายต่อเดือน ส่วนพื้นที่เสี่ยงวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากใน 5 ปีที่ผ่านมา พบ 135 อำเภอ ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยอง กระบี่ ภูเก็ต สงขลา พัทลุง กทม. ทุกเขตพื้นที่ ขอประชาชนร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ “3 เก็บ” คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ

2. โรคไข้หวัดใหญ่ คาดว่า ปี 2561จะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย จังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงมี 23 จังหวัด ได้แก่ กทม. และปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน 3.โรคมือ เท้า ปาก คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย โดยเฉพาะช่วง มิ.ย. - ก.ย. อาจมีผู้ป่วย 8,000 - 23,000 รายต่อเดือน วิธีป้องกัน คือ รักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคนี้ ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

4. โรคตาแดง คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย โรคนี้ติดต่อกันง่ายจากการสัมผัสกับน้ำตา หรือติดจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน ผู้ที่เป็นโรคนี้ขอให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดขี้ตา ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงวันแมลงหวี่ตอมตา แยกของใช้ส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น 5. โรคอาหารเป็นพิษ ปี 2561 คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย โดยเฉพาะ ม.ค.- พ.ค. อาจมีผู้ป่วย 9,000 - 11,000 รายต่อเดือน ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “สุก ร้อน สะอาด” จะช่วยป้องกันได้ 6. โรคไข้ฉี่หนู คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย ขอแนะนำประชาชนว่า ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูต หรือถุงพลาสติก และ 7. โรคเมลิออยโดสิส คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โดยช่วงฤดูฝนอาจมีผู้ป่วยประมาณ 200 - 300 รายต่อเดือน พบมากในเกษตรกร โดยเฉพาะภาคอีสาน จากการสัมผัสดิน หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 2 เรื่อง คือ 1. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ โดยปีใหม่ 2561 คาดว่า จำนวนผู้บาดเจ็บ 27,000 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 450 ราย ส่วนเทศกาลสงกรานต์ คาดว่า จำนวนผู้บาดเจ็บประมาณ 28,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 420 ราย สิ่งสำคัญอยากให้ระมัดระวัง คือ เรื่องการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างเดิน ขับขี่ยานพาหนะ เพราะเสี่ยงก่ออุบัติเหตุมากที่สุด และ 2. การป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ ม.ค.- เม.ย.ของทุกปี เป็นช่วงอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำและมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคปอดบวม/ปอดอักเสบ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยในช่วง ม.ค.- เม.ย. 2561 จะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 56,000 - 90,000 ราย ประชาชนและผู้ที่มีโรคประจำตัว ในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น