เครือข่ายงดเหล้า หนุน สธ. เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์อุบัติเหตุทุกราย ปิดช่องโหว่คนหัวหมอใช้ช่องว่างกฎหมายไม่ยอมเป่า วิ่งเต้นขอเคลียร์คดี พร้อมให้กำลังใจสู้ธุรกิจน้ำเมาวิ่งแก้กฎหมายควบคุมเหล้า ด้าน สธ. เผยตรวจเลือดในรายที่ตำรวจร้องขอ
วันนี้ (22 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ ในอุบัติเหตุทุกราย พร้อมให้กำลังใจ สธ. ยืนหยัดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หลังมีกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วิ่งเต้นขอแก้กฎหมาย เพื่อเปิดทางให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ มาเพื่อต้องการสนับสนุนภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์กับผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางถนนทุกราย เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายรายไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และใช้ช่องว่างของกฎหมายที่จะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ตรวจ เพราะฐานโทษความผิดจะสูงกว่า โดยหากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีสิทธิ์พักหรือถอนใบอนุญาตขับรถได้ อีกทั้งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สธ. มีนโยบายนำร่องสนับสนุนให้สถานพยาบาลของรัฐในสังกัด สธ. ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหนังสือมาที่สถานพยาบาล เพื่อเจาะเลือดส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุรา
“มาตรการดังกล่าวถือว่ามีความก้าวหน้าในทางนโยบาย ส่งผลต่อการป้องปรามผู้ขับขี่และลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วยถ่วงดุลการทำงานระหว่างสาธารณสุขและตำรวจ หลังพบพวกหัวหมอเมาแล้วขับแต่ไม่ยอมเป่า กลับพยายามวิ่งเต้นขอเคลียร์ผู้ใหญ่ เชื่อว่า มาตรการนี้จะปิดช่องตำรวจชั้นผู้น้อยถูกขอจากกรณีเมาแล้วขับได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าที่มีความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิ่งเต้นขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพียงเพื่อให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค้าขายได้มากขึ้นมอมเมาได้มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของ สธ. และภาคีเครือข่ายฯ ที่พยายามลดผลกระทบ ลดความสูญเสียจากน้ำเมา” ภก.สงกรานต์ กล่าว
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า สำหรับจุดยืนและข้อเสนอต่อ สธ. คือ 1. ขอสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนทุกราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และควรเป็นมาตรการที่ดำเนินการตลอดทั้งปี มีการกำหนดงบประมาณและแนวปฏิบัติงานให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง ที่สำคัญ ข้อมูลที่ได้จะยืนยันถึงความสูญเสียในอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต่อไป 2. ขอให้กำลังใจ สธ.ในการยืนหยัดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่โอนอ่อนตามแรงกดดันของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังพยายามวิ่งเต้นให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพียงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง และขอให้กำลังใจในการทำหน้าที่ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเต็มกำลัง และ 3. ภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นพันธมิตรกับกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน ยินดีสนับสนุน มีส่วนร่วม เฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย
นพ.โสภณ กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุเป็นนโยบายที่ สธ. เร่งรัดดำเนินการ ที่ผ่านมา มีการรณรงค์ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ ส่วนการวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ประสบอุบัติเหตุนั้น เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยที่ผ่านมา มีการตรวจเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ 2560 โดยมีการเจาะเลือดตรวจประมาณ 700 กว่าราย พบว่า กว่าครึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ในการดำเนินงาน 1.4 ล้านบาท คาดว่า จะสามารถตรวจได้ประมาณ 1,000 ราย ซึ่งการตรวจเลือดจะตรวจในรายที่เกิดอุบัติเหตุและตำรวจประสานร้องขอให้ตรวจ ซึ่งตรวจได้ทั้งในผู้ป่วยและอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต โดยหลักการจะต้องตรวจภายใน 4 ชั่วโมง เนื่องจากทุก 2 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด