กรมแพทย์เตือน 6 พฤติกรรมเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ชี้ ผู้ป่วย 90% รักษาหายได้ ขึ้นกับระดับความรุนแรง และตำแหน่งที่เป็น พร้อมแนะวิธีป้องกันง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง
วันนี้ (21 ธ.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย โดยได้รับบาดเจ็บ หรือ กระดูกเสื่อม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตกและกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมา หากไม่ได้กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดบริเวณเอวด้านล่างลงมาถึงสะโพกหรือต้นขาด้านหลัง แต่หากกดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะมีอาการปวดขาร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว
“ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ มีน้ำหนักตัวมากเกินไป โดยเฉพาะคนอ้วนลงพุง น้ำหนักที่มากจะทำให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา การแบกของหนัก ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้ การใช้งานผิดท่า เช่น การก้มยกของโดยไม่ระมัดระวัง การสูบบุหรี่จัดเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเสื่อมของหมอนรองกระดูก เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกระดูกสันหลังได้ไม่ดี ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบความเสื่อมตามวัย และพันธุกรรม เช่น พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนอื่น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะค่อยๆ ดีขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการพักผ่อน ออกกำลังกาย และรับประทานยาบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1 - 3 เดือน การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง อาการ และตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน ผู้ป่วยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของเส้นประสาท แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยประเภทเรื้อรัง เส้นประสาทบวมไม่ยุบ หากเกิน 6 สัปดาห์ มักจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหมอนรองกระดูก ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละรายและการวินิจฉัยของแพทย์
สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณสันหลัง และช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น การจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะ เช่น การนั่ง การขึ้นลงรถยนต์ การยกของ เป็นต้น การควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดแรงกดทับกระดูกสันหลังได้ และที่สำคัญ ควรงดสูบบุหรี่ เพราะทำให้กระดูกสันหลังสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ