xs
xsm
sm
md
lg

หงาย “การ์ดเกม” ช่วยป้องกันเด็กถูกล่อลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นศ.ป.โท มธ. สร้างนวัตกรรม “เกมการ์ดพลังป้องกันเด็ก” ช่วยฝึกทักษะเด็กด้านการคิด ตัดสินใจ การปฏิเสธ ป้องกันไม่ให้ถูกล่อลวง ผ่านรูปแบบเกมจำลองสถานการณ์

นายพิรุณ น้อยอิ่มใจ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้จัดการโครงการ ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาปี 2559 พบว่า มีเด็กหายจำนวนรวมมากถึง 264 ราย มีทั้งเด็กเพศชายและเพศหญิงในช่วงอายุระหว่าง 8 - 17 ปี ที่น่าสนใจ คือ แนวโน้มของผู้สูญหายในช่วงอายุ 11 - 17 ปี มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการชอบเล่นเกม อินเทอร์เน็ต การแชตออนไลน์หาคู่ รวมถึงการอยู่ในสภาวะครอบครัวที่มีปัญหา ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ผู้กระทำการจึงมักล่อลวงให้เด็กหลงกลพาตัวเองเข้าไปในสถานที่เสี่ยง โดยค่อย ๆ สร้างความเชื่อใจจนเด็กคล้อยตาม ซึ่งวัตถุประสงค์ในการล่อลวงส่วนใหญ่คือการล่วงละเมิดทางเพศ

นายพิรุณ กล่าวว่า เมื่อตอนเรียนวิชานวัตกรรมการเรียนรู้ เทคโนโลยี และสังคม ในระดับปริญญาโท ทำให้ได้ศึกษาเรื่องการเรียนรู้และการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ พบว่า เด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 15 ปี กว่าร้อยละ 50 ขาดการส่งเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และขาดทักษะการใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคม ซึ่งเป็นจุดอ่อนสอดคล้องกับวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในการล่อลวงเด็ก อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่เด็กจะสามารถเรียนรู้และจดจำเรื่องราวได้ดี เขาควรต้องผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จากการศึกษาและรวบรวมวิธีการล่อลวงของมิจฉาชีพ กลไกในการเอาตัวรอด ประกอบกับเทคนิคและวิธีการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างลึกซึ้ง จึงได้เริ่มทำการสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาเป็น ‘เกมการ์ดพลังป้องกันเด็ก (Child Protection Cards Game)’ ซึ่งเป็นการนำความรู้และการฝึกทักษะมาผูกกับเกมให้กลมกลืน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุกและสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

“กลไกของเกมจะเน้นการพัฒนาทักษะการคิดและตัดสินใจ (Serious Game) ผ่านการสวมบทบาทในเหตุการณ์ (Simulation Game) เพื่อฝึกทักษะการประเมินความเสี่ยงและการเอาตัวรอดในสถานการณ์จริง โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 6 - 9 ปีขึ้นไป ผู้เล่นจะแบ่งเป็นสองฝ่ายสวมบทบาทเป็นมิจฉาชีพและเด็กที่กำลังถูกล่อลวง ฝ่ายมิจฉาชีพจะมีการ์ดข้อความเชิญชวน เช่น กินขนมกัน, ไปเที่ยวชายหาดกับพี่ไหม และ เล่นเกมที่ร้านกัน พี่เลี้ยงเอง ฯลฯ ทางฝ่ายเด็กก็จะมีการ์ดข้อความตอบโต้การเชิญชวน เช่น ต้องขอพ่อกับแม่ก่อนนะคะ, ให้คนรู้จักไปด้วยนะ, รอแปปนึงนะ เดี๋ยวหนูมา และ ห้ามแตะตัวหนูนะ เป็นต้น ซึ่งการ์ดทั้งสองชุดแต่ละใบจะมีแต้มไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและโอกาสที่จะรอดจากความเสี่ยง ซึ่งผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องประเมินสถานการณ์และคาดเดาความสามารถของการ์ดที่อยู่ในมืออีกฝ่ายเพื่อเอาชนะให้ได้ ซึ่งการต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์เกมนี้เองจะช่วยให้เด็กจดจำรูปแบบและวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในการเข้าถึง และชุดถ้อยคำที่เหมาะสมในการพยายามเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย” นายพิรุณ กล่าว

นายพิรุณ กล่าวว่า นอกจากชุดการ์ดหลักแล้วแต่ละฝ่ายยังมีการ์ดพิเศษที่หากจับมาอยู่ในมือได้จะทำให้มีแต้มในการเอาชนะมากขึ้น เช่น ฝ่ายมิจฉาชีพ จะมียานพาหนะในการเดินทาง ส่วนฝ่ายเด็กก็จะมีการ์ดขอความช่วยเหลือจากตำรวจ (191) หรือศูนย์ประชาบดี (1300) เป็นต้น ด้วยตัวเกมมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย จากการทดลองเล่นกับกลุ่มเป้าหมายจึงได้ผลลัพธ์ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ เด็กกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ด้วยความสนุก และมีพัฒนาการที่ดีหลังการเล่นเกม ทั้งนี้ นวัตกรรมเกมดังกล่าวสามารถคว้ารางวัลจากเวที Social Impact Award 2017 ปัจจุบันมูลนิธิฯ ยินดีที่จะเปิดรับองค์กรหรือหน่วยงานเข้ามาเรียนรู้ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย เว็บไซต์ http://hhnft.org/ และเบอร์โทรศัพท์ 038-488956




กำลังโหลดความคิดเห็น