“สมัยผมเรียนหนังสือ ผมไม่ต้องมีเป้าหมาย พ่อแม่บอกให้ผมเป็นหมอ สังคมก็สั่งให้ผมเป็นหมอ เพราะเห็นว่าผมเรียนเก่ง แต่นั่นมันศตวรรษที่ 20 ไม่ต้องมีอะไรต้องคิด ตอนนี้ไม่ใช่ บ้านไหนที่ยังกำหนดเป้าหมายให้ลูกบ้านนั้นจะเสี่ยงมาก เพราะลูกจะเจอตัวแปรสูงมาก ตรงกันข้ามถ้าบ้านที่เลี้ยงลูกให้มีความสามารถกำหนดเป้าหมายเอง และกำหนดถูกอีกต่างหากว่าชอบอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ ชอบจริง รักจริง ถูกจริง แล้วก็ไปได้จริง เราเรียกความรู้แบบนี้ว่า EF แต่นี่เป็นความรู้สมัยใหม่ ที่เราอยากให้พ่อแม่และการศึกษาสร้าง” นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน กล่าวในงานเสวนา “ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อทักษะสมองของเด็กไทย?” ซึ่งจัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การ UNICEF
เป็นประโยคที่สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาในตวรรษที่ 21 แตกต่างจากตวรรษที่ 20 โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ในสังคมจะใช้วิธีการเดิมๆ ในการเลี้ยงดู วางแนวทางต่างๆให้เด็กยุคนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางที่เหมาะกับยุคสมัยที่เด็กต้องเติบโตขึ้นไปในอนาคต
ที่สำคัญ ต้องสร้างสมองเด็กให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ด้วย
นพ.ประเสริฐ กล่าวถึงการเลี้ยงลูกเพื่อให้มีสมองที่ดีพอ รับมือกับศตวรรษนี้ เรียกว่า Executive Function ( EF) คือ ความสามารถของสมองที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย การเลี้ยงลูกให้มี EF คือ เด็กที่มีปัญญา ใช้เครื่องมือเป็น เพราะว่าเครื่องมือนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ไม่ใช่ที่โรงเรียน เราต้องการเด็กที่มีสมองที่ดี ซึ่งประกอบด้วย
หนึ่งการควบคุมตนเอง
ต้องฝึกไม่ให้เด็กหลงไปกับกระแสของข้อมูลข่าวสารจำนวนมากในโลกอินเทอร์เน็ต การควบคุมตัวเองของเด็กต้องสามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวานได้ มุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายหลักที่ตนเองวางไว้ได้ อาทิ ทำงานก่อนเล่นทีหลัง แม้จะมีตัวแปรอื่นๆ มายั่วยุอยู่เบื้องหน้าก็ตาม
วันนี้แหล่งเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน หรืออยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ชายทะเล บนดอย หรือในเมือง ฉะนั้น ต้องทำให้เด็กมีปัญญาในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นและเหมาะสม
สองความจำสำหรับใช้งาน
ต้องทำให้ความรู้ที่จดจำไว้ สามารถนำไปใช้เมื่อเจอสถานการณ์ในชีวิตได้จริง ไม่ใช่แค่จำไปตอบในข้อสอบเท่านั้น ดังจะเห็นว่าวัยรุ่นมีปัญหามาก แม้จะได้เรียนเรื่องโทษภัยของอบายมุข แต่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียเมื่อพบสถานการณ์ในชีวิตจริงได้ เอาตัวรอดไม่เป็น เสมือนความรู้เก็บเข้าลิ้นชักไปใช้เพียงเวลาสอบ ฉะนั้น ต้องทำให้เด็กมีความจำที่อยู่หน้างานที่พร้อมที่จะงัดออกมาชั่งน้ำหนัก ข้อดีข้อเสียได้ตลอดเวลา
สามความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เป็นความสามารถของสมองไม่ใช่นิสัย ประเด็นคือ การพัฒนาทักษะ EF นั้น ทำได้ดีที่สุดช่วงอายุไม่เกิน 6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของเด็ก โดยการปล่อยให้เด็กได้เล่นสนุกตามประสา ซึ่งก็คือทำกิจกรรมทางกายภาพที่เด็กได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัส สมองส่วนหน้ากำลังทำงาน ถ้าเด็กคนไหนใช้สมองส่วนนี้มาก จะสามารถควบคุมตัวเอง คิดวิเคราะห์ ดังนั้นการปล่อยให้เด็กเล่นอะไรที่ใช้นิ้วทั้งสิบ จะดีต่อการพัฒนาสมอง มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีนิ้วแล้วสามารถเอานิ้วโป้ง แตะได้ทั้งสี่นิ้วที่เหลือ เด็กอนุบาลควรเล่นมากที่สุดไม่ใช่เรียนในตำราอย่างเดียว
สอดคล้องกับดร.นุชนาฎ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ่อแม่มีความเข้าใจว่า เด็กอ่านออกเขียนได้ถือว่า เก่ง จริงๆ แล้วช่วงเล็กๆ ในวัยก่อน 7 ขวบเป็นช่วงที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่เมื่อถูกบังคับนั่งไปเขียน นั่งเรียนกวดวิชาก็เกิดภาวะเครียดขึ้นมา การเรียนอย่างเดียวไม่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ เขาไม่มีความสุขไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
ในงานวิจัยต่างประเทศความเครียดในเด็กมีผลต่อสมอง ทำให้เซลล์ประสาทลดจำนวนลง เด็กไม่มีความสุข แกนสมองเหี่ยวลง เมื่อเทียบกับเด็กปกติ การเรียนพิเศษไม่ได้เกิดจากความอยากเรียน ทักษะEF ของเด็กไทย ในวัย 2-6 ปีอยู่ในภาวะที่ควรปรับปรุง คือ 30% สอดคล้องกับอัตราพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาต้องแก้ไขอยู่ที่ 30% ส่วนเรื่องไอคิวพบว่า 32% ต่ำกว่าเกณฑ์
“ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญต้องลงมือทำด้วย เรียนรู้ไปด้วยว่าเกิดปัญหาจะแก้ยังไง เด็กจะสูญเสียความมั่นใจถ้าเราไปขัดหรือเข้าไปแก้ให้ ต้องปล่อยให้เรียนรู้และลงมือทำเอง”
นพ.ประเสริฐ เสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพสมองของเด็กตามแนวทาง EF โดยภาครัฐต้องปลดล็อคสิ่งเหล่านี้ให้ได้ก่อน
ข้อหนึ่งการอ่านนิทานให้เด็กเล็กๆ ฟัง รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมทำให้หนังสือนิทานสำหรับเด็กถูกลง และสามารถทำให้พ่อแม่และเด็กเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาอุดหนุน ถือเป็นสวัสดิการให้เด็กทุกคน
ข้อสองปรับเรื่องสวัสดิการการลางานของพ่อแม่ให้ได้ใน 3 ปีแรกของลูก โดยไม่กระทบต่อรายได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปรับปรุง
ข้อสามต้องไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อยู่กับหน้าจอทุกชนิด ไม่ว่าโทรทัศน์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็ตาม เพราะภาพเคลื่อนไหวในจอนั้นกระทบต่อพัฒนาการทางสมองอย่างมาก
ข้อสี่ก่อนอายุ 7 ขวบ ต้องไม่มีการเรียน ควรปล่อยให้เด็กเล่นอย่างเดียว เพราะการเล่นเป็นการพัฒนาวงจรประสาท แต่เรื่องนี้พ่อแม่ทำเองไม่ได้ ถ้ารัฐไม่สนับสนุน
ข้อห้าฝึกสมองผ่านงานบ้าน ต้องให้เด็กได้ฝึกทำงานเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กในครอบครัวที่มีฐานะแบบใดก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เริ่มจากช่วยทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เพราะการฝึกให้ใช้กล้ามเนื้อนิ้วมือมีผลต่อการพัฒนาสมองโดยตรง
ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุดที่ภาครัฐต้องทำให้ได้ คือทำให้พ่อแม่มีความรู้และตระหนักให้ได้ว่าลูกในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญที่สุดในช่วงชีวิตมนุษย์ การพัฒนาสมองที่ดีต้องพัฒนาตั้งแต่ช่วงวัยนี้ ไม่เช่นนั้นเมื่อลูกโตขึ้นไปแล้วจะยากต่อการเรียนรู้
ที่ผ่านมาภาครัฐมักจะมองทิศทางการพัฒนาประเทศที่จะเดินไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 เตรียมสารพัดสำหรับศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาทุกเรื่อง คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของคนในชาติ เราพร้อมหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ที่สามารถสร้างสมองให้เติบโตได้มากที่สุด เราได้เตรียมตัวจริงๆ หรือส่งเสริมกลุ่มเด็กเหล่านี้จริงๆ หรือไม่ !