xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กสมาธิสั้น” ไม่รักษาเสี่ยงเกเร-ติดยาง่าย รพ.จิตเวชนครพนมฯ เร่งให้ความรู้พ่อแม่ครู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์ เผย พบ “เด็กสมาธิสั้น” เพิ่มขึ้น ไม่รักษาเสี่ยงเกเรเมื่อเป็นวัยรุ่นมากกว่าเด็กปกติ 3 - 4 เท่า ซ้ำยังเสี่ยงติดสารเสพติดได้ง่าย รพ.จิตเวชนครพนมฯ เร่งให้ความรู้ “ผู้ปกครอง - ครู” ในการดูแล ชี้ ดูแลถูกต้องโอกาสหายขาดได้กว่าร้อยละ 50 แนะสังเกตพฤติกรรม ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ทำการบ้านไม่เสร็จ ให้รีบพาปรึกษาแพทย์

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวถึงโรคสมาธิสั้นในงานอบรมครูและผู้ปกครองเด็กโรคสมาธิสั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านการเรียน พฤติกรรม เช่น เด็กออทิสติก เด็กบกพร่องด้านการเรียนรู้ เด็กสมาธิสั้นหรือที่เรียกว่าเด็กไฮเปอร์ ซึ่งเด็กโรคสมาธิสั้น เป็นเด็กที่มีไอคิวปกติ แต่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่เกินเด็กปกติ มีผลกระทบต่อการเรียนรู้และอาจส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจล่าสุดของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 พบว่า มีเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 5.38 หรือสามารถพบได้ประมาณ 2 - 3 คนในห้องเรียนที่มีเด็ก 50 คน โดยส่วนของ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ก็พบเด็กสมาธิสั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 2560 มีทั้งหมด 1,655 คน เพิ่มจากปี 2558 ร้อยละ 28 ซึ่งโรคนี้หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เด็ก จะมีโอกาสหายเป็นปกติได้กว่าร้อยละ 50 แต่หากไม่ได้รับการดูแลทั้งที่บ้านและโรงเรียน เมื่อโตขึ้นเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสกลายเป็นวัยรุ่นเกเรและต่อต้านสังคมได้มากกว่าเด็กปกติ 3 - 4 เท่าตัว

“เด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา มักจะควบคุมอารมณ์และความต้องการตนเองได้น้อย เมื่อถูกชักจูงให้ใช้สารเสพติดเด็กจะติดสารเสพติดได้ง่ายกว่าเด็กปกติทั่วไป ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่ชายแดน มีปัญหาการแพร่ระบาดสารเสพติดทั้งกัญชา ยาบ้า ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาวจากเด็กกลุ่มนี้ จึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองและครูระดับประถมศึกษา รวมทั้งประชาชนที่สนใจ ในการดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นให้ถูกวิธี และมีความต่อเนื่องกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ในการปรับพฤติกรรมเด็ก การให้ยาเด็ก รวมไปถึงการดูแลสุขภาพจิตของผู้ดูแลเด็กสมาธิสั้นด้วยการฝึกสติบำบัด เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้นและไม่เกิดความเครียด สามารถดูแลเด็กอย่างมีความสุข จะเอื้อให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น” นพ.กิตต์กวี กล่าว

พญ.ปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.จิตเวชนครพนมฯ กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น เกิดจากกรรมพันธุ์และยังพบได้ในแม่ที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีโอกาสมีลูกเป็นสมาธิสั้นสูง ทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องบางส่วน มีปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง คือ โดปามีนน้อยกว่าเด็กปกติ อาการเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กพบได้ก่อนอายุ 7 ปี ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการขาดสมาธิ อาการหุนหันพลันแล่น และอาการซน อยู่ไม่นิ่ง พบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เด็กบางคนอาจจะไม่ซน แต่ขาดสมาธิ การดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ สามารถทำให้เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อได้เช่นกัน สำหรับอาการของเด็กสมาธิสั้นที่มารับบริการที่ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ที่พบบ่อยคือ ดื้อ ซน ก่อกวนคนอื่น เรียนไม่ทันเพื่อน จึงขอฝากให้ผู้ปกครองและครูคอยสังเกตบุตรหลานหรือนักเรียน หากมีพฤติกรรมซน ไม่นิ่ง ทำการบ้านไม่เสร็จ ให้รีบปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลรักษา หลักการดูแลรักษาจะใช้ 2 วิธี คือ ใช้ยาช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทในสมองและการปรับพฤติกรรม โดยนำจุดเด่นของการมีพลังเยอะไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และส่งเสริมความถนัดของเด็ก เพิ่มกำลังใจให้กับเด็กและผู้ปกครอง จะทำให้เด็กและผู้ดูแลมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ จะจัดกิจกรรมให้ความรู้ให้ผู้สนใจคอยติดตามได้ทาง WWW.JVNKP.NET
กำลังโหลดความคิดเห็น