xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกต้นการบูรพระราชทาน “สมเด็จพระเทพฯ” เป็นต้นไม้ประจำ สธ.พร้อมเดินหน้า “หมอตำบล” ครบ 100 ปีสาธารณสุขไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. ปลูกต้น “การบูร” พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข เผย 100 ปี สธ. ในปี 61 เดินหน้าขับเคลื่อนระบบการแพทย์ปฐมภูมิ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทีมสหวิชาชีพดูแลเชิงรุก

วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. และผู้บริหาร สธ. ร่วมกันปลูกต้นการบูรที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข โดยต้นการบูร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ “การบูร” ทุกส่วนมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ยาระงับประสาท แก้โรคตา แก้เลือดลม แก้ปวดฟัน แก้ไอ แก้ปวดท้อง เกล็ดของการบูรใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน

จากนั้น นพ.ปิยะสกล แถลงข่าว 100 ปี การสาธารณสุขไทย ว่า ระบบการสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและดีขึ้น โรคติดต่ออันตรายหลายโรคถูกกำจัดให้หมดไป เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค หลายโรคมีวัคซีนป้องกัน มียารักษา ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้น ในโอกาส 100 ปี การสาธารณสุขไทย ที่จะครบรอบในวันที่ 27 พ.ย. 2561 จะได้ทบทวนและนำบทเรียนจากอดีตมาใช้เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่สองของการสาธารณสุขไทยให้เป็นศตวรรษที่สร้างสรรค์ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับกำหนดการพัฒนาในอนาคต

“100 ปี มีการพัฒนาระบบสุขภาพประเทศมาโดยตลอด โดยปีหน้าจะพัฒนาเป็นระบบสาธารณสุข 4.0 คือ ดูแลประชาชนบนพื้นฐานคุณภาพ คุณค่า และแทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับในการดูแลสุขภาพ ก็จะทำหน้าที่เชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพในการลงไปดูแลเชิงรุก ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และบุคลากรทางการแพทย์ก็เข้าถึงประชาชนได้ง่ายเช่นกัน ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเองได้ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ก็ได้ผลดี โดยในปี 2561 ก็จะเน้นขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีแล้ว 596 ทีมจะเพิ่มเป็น 1,170 ทีม ในปี 2561 นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงระยะยาว และตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการพัมนาระบบบริการ ได้ให้ทุกเขตสุขภาพดำเนินการพัฒนาใน 19 สาขา และศูนย์ความเป็นเลิศโรคที่สำคัญ เช่น มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและราชวิทยาลัย พัฒนาความเป็นเลิศด้านวิชาการ บุคลากร และการบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพภายในเขตสุขภาพ ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ

นพ.เจษฎา กล่าวว่า โครงการ 100 ปี การสาธารณสุขไทยประชารัฐร่วมใจสาธารรสุขไทยก้าวหน้า จะมีกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก เช่น การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย รวมถึงสนับสนุนกรมและหน่วยงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หรือจัดแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ จัดตั้งหอจดหมายเหตุสุขภาพไทย เก็บรักษาเอกสารสำคัญ การอนุรักษ์อาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ต้นการบูรเป็นไม้ยืนต้นสูง 10 - 15 เมตร อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นหอมของการบูร โดยเฉพาะรากและโคนต้นจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น เมื่อนำเนื้อไม้ของต้นการบูรที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้การบูรดิบ โดยทั่วไปเนื้อไม้การบูร 20 - 40 ส่วน จะให้การบูรดิบ 1 ส่วน แล้วน้ำการบูรดิบไปแยกน้ำมันออก และทำให้บริสุทธิ์โดยการระเหิดซ้ำหลายๆ ครั้ง จะได้การบูรธรรมชาติ ซึ่งตำราสรรพคุณยาไทย ระบุว่า หากใช้เป็นยาภายในการบูรมีสรรพคุณบำรุงธาตุ ทำให้อาหารงวด ขับลม ขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ กระจายลมทั้งปวง หากใช้เป็นยาภายนอกนั้น การบูรใช้แก้คัน แก้ปวดตามเส้น แก้เคล็ดขัดยอก บวม แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้พิษแมลงกัดต่อย กระตุ้นหัวใจ แก้อาการหน้ามืด ข้อมูลทางคลินิก มีฤทธิ์แก้ระคาย ทำให้ผิวร้อนแดง แก้ปวดอย่างอ่อน บรรเทาอาการไฟโบรไซทิส คือ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อ่อนเปลี้ยง่าย บรรเทาอาการปวดประสาท คัน ต้านการติดเชื้อ ระงับเชื้อ โดยปัจจุบันการบูรธรรมชาติมีน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นการบูรสังเคราะห์ ซึ่งการบูรธรรมชาติแท้มีราคากิโลกรัมละ 3 หมื่นบาท ซึ่งการที่ต้นการบูรเป็นต้นไม้ประจำ สธ. ก็จะส่งเสริมให้หน่วยงานของ สธ.ปลูกต้นการบูรให้ได้ 1 ล้านต้น

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สธ. และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า สธ. ให้มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ให้มาจนครบ 100 ปี ซึ่งในโอกาส 100 ปี ก็จะทำให้แพทย์ไปสู่ตำบล เพราะที่ผ่านมาจะมีแพทย์ประจำแค่ระดับอำเภอ และจะส่งเสริมการให้ความรู้สุขภาพในการดูแลตัวเองแก่ประชาชน ส่วนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจะมี 4 ด้าน คือ การบริหารจัดการ การรักษาพยาบาล การเงินการคลัง และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีการตั้งไว้ทั้งหมด 12 ประเด็น โดยจะเริ่มดำเนินการก่อนใน 6 ประเด็นแรก คือ 1. ระบบสุขภาพเป็นเอกภาพ 2. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3. ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ 4. ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน 5. ระบบการคลังหลักประกันสุขภาพ และ 6. ระบบสารสนเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น