xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ศธ.บรรจุหลักสูตร “ภัยยาสูบ” หลังพบ 20 ปี อัตราดูดบุหรี่โจ๋ไทยไม่ลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผย 20 ปี อัตราสูบบุหรี่ “วัยรุ่นไทย” ไม่ลดลง ด้านยูโร มอนิเตอร์ คาด แม้มี พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ ก็ไม่ทำให้อัตราสูบลดลง เหตุร้านค้ารายย่อยไม่ขอดูบัตรประชาชนยืนยันอายุผู้ซื้อ “หมอประกิต” วอน ศธ. บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนพิษภัยยาสูบ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า EURO Monitor International ได้ทำการวิจัยและวิเคราะห์แนวโน้มตลาดบุหรี่ของประเทศไทย พบว่า ยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยแทบไม่ลดลงเลย นับจากมีการขึ้นภาษีเมื่อปี 2559 เนื่องจากผู้เสพหันไปสูบบุหรี่ราคาถูก ที่บริษัทบุหรี่ผลิตออกมาทำการตลาดหลังขึ้นภาษี และมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของตลาดขายปลีกลดลงเพียงเล็กน้อย ส่วนอัตราการเติบโตของการลงทุน (CAGR) จะลดลงเฉลี่ยแค่ร้อยละหนึ่งต่อปีจนถึงปี 2564 ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หลัง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากร้านค้าขนาดเล็กส่วนใหญ่ ไม่มีการขอดูหลักฐานเพื่อยืนยันอายุที่แท้จริงของผู้ซื้อที่อายุน้อย และจากการที่ประเทศไทยยังขาดการให้การศึกษาถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยม

“อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กไทยอายุ 13 - 15 ปี เพศชายเท่ากับ 20.1% เพศหญิง 3.8% สูงเป็นอันดับที่สามในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่เพศชายเสพเท่ากับ 41% เพศหญิง 3.5% และมาเลเซีย เพศชายสูบเท่ากับ 30.9% และเพศหญิงเท่ากับ 5.3% โดยอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยไม่ได้ลดลงใน 20 ปีที่ผ่านมา” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีความพยายามเสนอและผลักดันให้มีการบรรจุเนื้อหาพิษภัยและอันตรายของการสูบบุหรี่ ในหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนมาโดยตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ จัดกิจกรรมมากมายเชิญชวนและร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ทำโครงการ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” เพื่อให้เป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย โดยให้นักเรียนมีส่วนในกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ทั้งร่วมกันพัฒนาคู่มือการเรียนการสอนพิษภัยยาสูบสำหรับคุณครูนำไปใช้ แต่ยังมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงใคร่ขอเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ให้มีการบรรจุการเรียนการสอนเรื่องพิษภัยยาสูบในชั้นเรียนระดับต่างๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น