รมว.สธ.ชี้ “วัคซีนไข้เลือดออก” ไม่ใช่มาตรการหลักคุมโรค ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก หลังฟิลิปปินส์ระงับฉีด กำชับ คร. เร่งทำข้อบ่งชี้ใครควรใช้วัคซีน ผู้เชี่ยวชาญเผยในไทยยังฉีดน้อย เตรียมหารือ 7 ธ.ค. ถึงผลข้างเคียงในฟิลิปปินส์ ด้าน อย. รอผลพิจารณาก่อนทบทวนการขึ้นทะเบียน นักวิชาการ ย้ำ สธ. ต้องเร่งหาจำนวนคนฉีด มีผลอย่างไร ไม่ใช่แค่รอผลสรุป
จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฟิลิปปินส์ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เนื่องจากมีพบว่ามีผลข้างเคียง ซึ่งประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และมีการใช้ในโรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่ได้เป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะมีการหารือในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถึงกรณีนี้ แต่มีบางสื่อรายงานข่าวว่า สธ. ไทย สั่งระงับการนำเข้าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ทำให้ผู้คนยิ่งเข้าใจผิด
วันนี้ (6 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มุ่งเน้นใช้วัคซีนเป็นมาตรการหลักในการป้องกันโรค จึงไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล เพราะยังคงใช้มาตรการเรื่องการเก็บและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย นอกจากนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วใช้ว่าจะเกิดผลข้างเคียงทุกคนแล้วมีโอกาสอาการรุนแรงขึ้น เนื่องจากปกติคนไทยอยู่ในประเทศเขตร้อน มีโอกาสได้รับเชื้อและมีภูมิต้านทานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมควบคุมโรค (คร.) เฝ้าระวังผู้ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว และให้ประชุมหารือข้อมูลด้านวิชาการในเรื่องนี้ และออกเป็นข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน โดยจะเผยแพร่สู่สาธารณะให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกไม่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะมีประสิทธิภาพเพียง 60% และยังต้องมีการพัฒนาวัคซีนต่อ หมายความว่า เมื่อฉีดแล้วก็มีโอกาสเป็นอยู่ แต่คนที่มีภูมิต้านทานแล้วไปฉีดวัคซีนก็อาจจะมีภูมิต้านทานมากขึ้น เมื่อป่วยก็อาจจะเป็นน้อยคล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดออกผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. เมื่อปี 2559 มีการใช้บ้างในส่วนของ รพ.เอกชน ยังไม่ได้กำหนดเป็นวัคซีนพื้นฐานในประเทศ จึงยังไม่มีปัญหา ทั้งนี้ ยังไม่มีการสั่งระงับการใช้วัคซีนดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจของ อย.พิจารณา โดยวันที่ 7 ธ.ค. นี้ คร. จะหารือเรื่องนี้ ส่วนภาคเอกชนอาจจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง สำหรับผลข้างเคียงที่ว่าอาจจะเป็นอันตราย แต่ไม่ถึงกับอันตรายรุนแรงนัก เพียงแต่ว่าหากฉีดในเด็กที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนจะมีอาการมากกว่าเด็กที่ติดเชื้อมาก่อนแล้ว เนื่องจากเชื้อไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งที่ 2 จะมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ถ้าคนไม่เคยติดเชื้อแล้วมาฉีดจะเหมือนเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 1 จากวัคซีน เพราะเป็นวัคซีนเชื้อเป็น หากติดเชื้อครั้งที่ 2 ก็จะเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น เนื่องจากวัคซีนยังสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีทุกสายพันธุ์ไม่ดีนัก แต่หากเคยติดเชื้อมาแล้วและมาฉีดวัคซีน การติดเชื้อครั้งที่ 2 ก็จะไม่รุนแรง ดังนั้น ภาครัฐจึงยังไม่ได้อนุมัติให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน รอการวิจัยวัคซีนตัวอื่นๆ ในอนาคตที่จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง
ด้าน รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่ 7 ธ.ค. จะเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ อย. ผู้เชี่ยวเชี่ยวชาญด้านสถิติ นักแปลภาษา สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มาประชุมเพื่อวิเคราะห์กรณีข้อความเกี่ยวกับผลที่ได้รับจากการฉีควัคซีนไข้เลือดออกในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยจะต้องดูว่าฉีดไปแล้วมีผลอย่างไร คนรับวัคซีนมีมากแค่ไหน แต่เท่าที่ทราบยังไม่ใช่วัคซีนพื้นฐานที่ฉีดใน รพ. รัฐ แต่เปิดให้ฉีดเสรีใน รพ. เอกชน ที่ต้องการป้องกันไข้เลือดออก คาดว่า ตอนนี้มีการนำเข้าและฉีดไปประมาณพันคนเท่านั้น ไม่เหมือนฟิลิปปินส์ที่มียอดสูงถึงแสนคน ที่ต้องเอานักสถิติมาร่วมด้วย เพราะข้อมูลการแปลมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถิติเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ระบุถึงจำนวนคนป่วยและสัดส่วนของคนที่ได้รับวัคซีน จึงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการข้อมูลจำเพาะ และแน่ชัดก่อนแจ้งให้สาธารณชนทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 8 ธ.ค. ส่วนคนที่กำลังคิดจะฉีดวัคซีนดังกล่าวขอให้รอไปก่อน
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงษ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. กำลังรอผลการพิจารณาของสถาบันวัคซีนแห่งชาติก่อนว่าจะเป็นอย่างไร แล้ว อย. ถึงจะพิจารณาต่อเกี่ยวกับการทบทวนการขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนชนิดนี้แม้จะยังไม่ได้บรรจุในวัคซีนพื้นฐาน แต่มีการใช้ในเอกชน ซึ่งก็ต้องมีการติดตาม ไม่ใช่นิ่งเฉย โดยเฉพาะรัฐต้องออกมาให้ความเชื่อมั่นเรื่องนี้มากกว่าแค่รอการประชุมเท่านั้น เพราะมีตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนไปแล้วราว 7 แสนคน แต่ก็ยังสั่งระงับการใช้วัคซีน ดังนั้น กรมควบคุมโรค และ อย. ต้องดำเนินการมากกว่าการรอประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดย 1. ต้องรวบรวบตัวเลขว่าวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียน และมีอยู่ในท้องตลาดมีจำนวนเท่าไร 2. วัคซีนดังกล่าวฉีดไปแล้วในประชาชนจำนวนกี่ราย 3. มีรายงานผู้รับวัคซีนไปแล้วเกิดปฏิกิริยา หรือมีผลข้างเคียงอย่างไร ติดตามหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สธ. ต้องหาข้อมูลและเปิดเผยออกมาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือด้วย ที่สำคัญ ควรต้องเรียกผู้ประกอบการที่นำเข้าวัคซีนดังกล่าวมาเพื่อสอบถามว่า จะมีการเฝ้าระวังร่วมกันอย่างไร ซึ่งทางผู้ประกอบการที่นำเข้าก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ต้องรอให้เกิดปัญหา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากรอให้เกิดเคสจะยิ่งรุนแรงมาก
“ช่วงที่มีการขอขึ้นทะเบียน อย. พิจารณาตามข้อมูลที่มีอยู่ แต่เมื่อมีข้อมูลใหม่ก็ต้องเร่งพิจารณา และทบทวนเรื่องนี้ ซึ่งไม่ว่ายา หรือวัคซีน จะต้องมีระบบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น ดังนั้น ขอให้ สธ. ออกมาแสดงความเชื่อมั่นมากกว่านี้ และทำอะไรให้เป็นระบบ ครูก็มีให้เห็นอย่างฟิลิปปินส์ และขอย้ำว่า วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ขณะนี้ยังไม่ควรมีกระบวนการบรรจุเป็นวัคซีนขั้นพื้นฐาน แต่ทราบมาว่า ก่อนหน้านี้ มีการผลักดันเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องออกมาให้ข้อมูลด้วย” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว