xs
xsm
sm
md
lg

รู้ว่าป่วย “ลมชัก” ไม่ควรขับรถ ด้านขนส่งฯ บรรจุ “ลมชัก” เป็นเกณฑ์ขอใบขับขี่ตั้งแต่ปี 57

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้อาการ “ลมชัก”" แบบเหม่อลอย วูบ จำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ ย้ำรู้ตัวว่าป่วยไม่ควรขับรถ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับตัวเองและผู้อื่นได้ ด้านกรมขนส่งฯ เห็นชอบตั้งแต่ปี 57 ผู้ขอหรือต่อใบขับขี่ต้องไม่เป็นโรคลมชัก

จากกรณีชายหนุ่มวัย 44 ปี ขับรถกระบะชนจักรยานยนต์กว่า 10 คัน บนถนนพัทยาใต้ จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 15 ราย โดยอ้างว่าเป็นโรคลมชัก ขณะเกิดเหตุไม่รู้สึกตัว แต่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ โดยดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่กระแสสังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเป็นโรคลมชักแล้วมาขับขี่ และกรมขนส่งบางบกไม่ควรให้ใบอนุญาตขับขี่หากเป็นโรคนี้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมชักจะมีอาการหลากหลาย ทำให้สังเกตยาก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคลมชัก จึงไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย วูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนทั่วไป 2 - 6 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะชัก แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สำหรับการรักษามีทั้งการรับประทานยา และผ่าตัด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อต่อยาที่รักษามากขึ้น ทั้งนี้ อาการชักที่อยู่ในภาวะวูบ ภาวะเหม่อลอย เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ทำให้ไม่ทันสังเกต ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สามารถบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่
 
นพ.อุดม ภู่วโรดม  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า นอกจากภาวะชักเกร็งกระตุกแล้ว ยังต้องระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักเหม่อลอย เนื่องจากเมื่อมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ว่ายน้ำแล้วเกิดจมน้ำ ชักขณะขับรถ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้ร่วมเส้นทางหรือทรัพย์สินได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากโดยผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ควรจะทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุก ไม่เกิน 2 นาที แต่หากชักนานถึง 5 นาที ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรแจ้งหมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องไม่หยุด และดื้อต่อการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้นด้วย

นพ.สมชาย โตวณะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิอายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา เคยให้สัมภาษณ์ MGROnline ไว้ครั้งหนึ่ง ว่า การรักษาผู้ป่วยโรคลมชักจะแนะนำทุกครั้ง ว่า ไม่ควรขับรถ เพราะหากอาการกำเริบขึ้นมา ไม่เพียงตัวเองที่จะบาดเจ็บ ยังอาจเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตผู้อื่นด้วย ที่น่าห่วงคือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามคนเป็นโรคลมชักขับรถ หากเป็นยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามขับรถ เว้นแต่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยมีการกินยาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยเกิดอาการชักอย่างต่ำ 6 เดือน - 1 ปี จึงจะสามารถขับรถได้

ขณะที่ กรมควบคุมโรค (คร.) เคยให้ข้อมูลว่า โรคและปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ มีดังนี้ 1. โรคที่เกี่ยวกับสายตา ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม 2. โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มาก มีอาการหลงลืม ขับรถหลงทางในบางครั้ง การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี 3. โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ บางคนประสานงานแขนกับขาไม่ดี หรือสมองสั่งให้แขนขาทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง 4. โรคพาร์กินสัน 5. โรคลมชัก 6. โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ 7. โรคหัวใจ 8. โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง และ 9. การกินยาบางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม หรือ ง่วงนอน

ส่วนกฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์ คือ 1. ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ 2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต และ 3. ไม่ติดสุรา ยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยตั้งแต่ปี 2557 คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ เพื่อออกใบรับรองแพทย์ สำหรับผู้ขอรับ และต่ออายุใบอนุญาตขับรถ มีมติเห็นชอบ ให้กำหนดกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดอันตราย จากการขับรถไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน และผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือผ่านการผ่าตัดหัวใจ หรือขยาย เส้นเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นความเจ็บป่วย ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ ยกเว้นผู้ที่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์ และยังเห็นชอบ ตัดโรคเท้าช้าง โรคเรื้อน และ วัณโรค ออกจากใบรับรองแพทย์ เพราะเป็นโรคที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการมองเห็นในเบื้องต้น และปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการตรวจรักษาพัฒนาขึ้นมาก ทำให้โรคดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น