“องค์กรสตรี” ยื่น 7 ข้อเสนอแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศและครอบครัว จี้ ตร.เลิกมิง “ผัวซ้อมเมีย” เป็นเรื่องครอบครัว ด้าน “ผอ.บ้านพักฉุกเฉินฯ” ชี้หญิงถูกกระทำขอความช่วยเหลือพุ่ง 300 รายต่อปี ขณะที่ “เด็กหญิง 13 ปี” เปิดใจ ขอความเป็นธรรมหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านมาเกือบ 2 เดือน คดีไม่คืบ
วันนี้ (2 ธันวาคม 2560) เวลา 09.30 น. ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ฯ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ร่วมกับบ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง มูลนิธิพิทักษ์สตรี และมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จัดกิจกรรมปลุกพลังใจและเปิดเวทีรับฟังเสียงของกลุ่มผู้หญิงที่เผชิญปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว
จากนั้นทางกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาฯได้ยื่นข้อเสนอ ต่อนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเสนอความต้องการสู่แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรง ทั้งนี้ภายในงานมีการแสดงละครของสมาชิกบ้านพักฉุกเฉินฯ ที่เกิดขึ้นจากชีวิตจริง และนิทรรศการ"จดหมายเหตุ"เพื่อบอกเราความรุนแรงในวันเกิดเหตุด้วย
นางณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เป็นเหมือนการรับฟังเสียงของผู้หญิงผ่านปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการแสดงละครจากสมาชิกของบ้านพักฉุกเฉินกว่า 20 คน ที่พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ต้องเผชิญความรุนแรง ผ่านละครทั้งหมด 4 เรื่อง ดังนั้น เมื่อสมาชิกของบ้านพักฯ กล้าลุกขึ้นมาเปิดเผยตัวเอง และถ่ายทอดเรื่องราวความรุนแรง ก็หวังว่าจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา มีมาตรการทางสังคมและนโยบายของภาครัฐที่ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ จากข้อมูลบ้านพักฯ แต่ละปีพบว่ามีผู้หญิงที่ถูกกระทำส่วนใหญ่มาจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครองครัว ส่งผลต่อปัญหาท้องไม่พร้อม การติดเชื้อเอชไอวี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทุกๆ 1 ปี จะเข้ามาที่บ้านพัก ประมาณ 300 ราย เริ่มตั้งแต่อายุแรกเกิดถึง 50 ปี ปัญหาท้องไม่พร้อมจะสูงที่สุด และเด็กแรกเกิดหลายรายที่ได้รับเชื้อจากแม่
“ปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ส่วนมากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา เนื่องจากขาดที่พึ่งที่ปลอดภัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้ บางรายไม่กล้าแจ้งความเพราะอาย กลัว ถูกข่มขู่ หลายรายเมื่อขึ้นโรงพัก ตำรวจแค่ลงบันทึกประจำวัน แล้วให้กลับบ้าน พ้นโรงพักก็เกิดความรุนแรงอีก สำหรับความต้องการของบ้านพักฯ คือ อยากให้รัฐบาล กรมกิจการสตรีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ออกนโยบายเอื้อต่อผู้เสียหายและรวดเร็วทันท่วงที โดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีสวัสดิการรองรับให้กับผู้เสียหาย”นางณัฐิยา กล่าว
นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 13 ปี ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางเพศ หนึ่งในสมาชิกบ้านพักฉุกเฉินฯ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนต่างจังหวัด ครอบครัวแตกแยก เติบโตมากับตาและยาย จากนั้นย้ายมาอาศัยอยู่กับพ่อใน กทม.เป็นห้องพักแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทั่งคนร้ายอาศัยจังหวะที่พ่อและแม่เลี้ยงไม่อยู่เข้ามาล่วงละเมิดทางเพศ และข่มขู่ไม่ให้ไปบอกใคร แต่เมื่อพ่อทราบเรื่องก็พาไปแจ้งความที่ สน.แห่งหนึ่ง ตำรวจทำได้แค่ลงบันทึกประจำวัน ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า
“14 ต.ค.วันที่หนูไปแจ้งความ ตำรวจมีกิริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ทุบโต๊ะ ตะคอก ชักสีหน้าไม่พอใจ เหมือนไม่เต็มใจทำคดี แม้แต่ส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ยังไม่มีพนักงานพาหนูไป หนูกับพ่อต้องเดินทางไปเองแล้วไปบอกพยาบาลว่าหนูถูกข่มขืนมา ซึ่งหนูมีความรู้สึกแย่มาก มันไม่เหมาะสมที่ต้องไปเล่าเรื่องราวที่เจอมาซ้ำอีก หนูท้อใจ ทำอะไรไม่ถูก ทั้งอายทั้งหวาดกลัว เครียด ทั้งนี้ หนูอยากฝากผ่านไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนว่า ควรเต็มใจช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ควรโวยวาย แต่ควรมีความเป็นมิตร เพราะสิ่งที่ผู้เสียหายเจอมาก็แย่พอแล้ว มันกระทบจิตใจมาก และอยากให้คดีมีความคืบหน้า จับตัวคนร้ายให้ได้ และขอให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง กล้าลุกขึ้นมาสู้ เข้มแข็ง อย่ากลัว” นางสาวเอ (นามสมมติ) กล่าว
ขณะที่ นางสาวบี (นามสมมติ) อายุ 36 ปี ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า ตนเองถูกพี่ชายแท้ๆ ล่วงละเมิดทางเพศตอนอายุ 14 ปี แต่เมื่อไปเล่าให้พ่อแม่ฟังก็ไม่มีใครเชื่อ จนเกิดปากเสียงทะเลาะกับแม่ ทนไม่ไหวต้องหนีออกจากบ้าน มาอาศัยอยู่กับญาติและเพื่อน จากนั้นก็ใช้ชีวิตเพียงลำพัง จนมาเจอกับผู้ชายที่คิดว่าเขาจะรักเราดูแลเราได้ แต่ก็ผิดหวังอีกครั้งเมื่อเราตั้งครรภ์ แต่เขาไม่รับผิดชอบ จนต้องแยกทางกัน ตอนนี้ลูกอายุได้ 4 ขวบ ตนเองกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว กระทั่งไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงได้มาขอความช่วยเหลือและอาศัยอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินฯ
“ลองคิดภาพว่าเด็ก 14 กำลังเริ่มเป็นสาว เข้าวัยที่สดใส พอมาเจอเหตุการณ์เลวร้ายพี่ชายแท้ๆ ข่มขืน มันซึมลึกติดตาจำได้ไม่ลืม มันเหมือนประตูถูกปิดตาย มันมีคำถามมาตลอดว่าทำไมแม่ไม่ปกป้องเรา ทำไมไม่มีใครเชื่อเรา ทำไมทุกคนยอมให้เราออกจากบ้าน ต้องมาเผชิญชะตากรรมตัวคนเดียว มันยากที่จะทำใจ แต่สิ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ตอนนี้ คือ กำลังใจจากลูก ได้เห็นหน้าเขา ได้นอนกอดเขา มันรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาสู้ ต้องอยู่เพื่อลูก ทั้งนี้อยากบอกกกับสังคมว่าความรุนแรงในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด มันเป็นเรื่องใหญ่ มันเป็นปัญหาที่ยังซุกซ่อนไว้ใต้พรม คนที่เจอแบบนี้ต้องออกมาขอความช่วยเหลือ อย่าเก็บไว้คนเดียว ก่อนที่จะสายเกินไป ส่วนภาครัฐ ควรมีการช่วยเหลือที่ถาวร สนับสนุนในเรื่องอาชีพ และสวัสดิการอื่นๆ เพื่อให้ผู้เสียหายลักษณะนี้ได้ยืนด้วยตัวเองในสังคมได้” นางสาวบี (นามสมมติ) กล่าว
สำหรับข้อเสนอที่ทางกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรง ยื่นเสนอต่อกรมกิจการสตรีฯ พม.คือ 1. หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เมื่อรับเรื่องแล้วให้รีบดำเนินการ ไม่มองเป็นเรื่องสามี ภรรยา (เช่น ตำรวจ) 2. ออกมาตรการ “คุมประพฤติ” บุคคลที่กระทำความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ 3. โรงพยาบาลควรดำเนินการตรวจ DNA ให้ผู้หญิงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในกรณีที่ฝ่ายชายปฏิเสธความรับผิดชอบ และกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา 4. ภาครัฐควรจัดหาทนายความให้คำปรึกษา การต่อสู้ดำเนินคดี การบังคับคดีให้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 5. ภาครัฐควรมีกองทุนสนับสนุนการสร้างอาชีพ การต่อสู้ดำเนินคดีในระหว่างฟื้นฟู เยียวยา และภายหลังการฟื้นฟู เยียวยา 6. หน่วยงานที่ดูแลบริการผู้หญิงเช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว ควรอบรมด้านกฎหมายและสิทธิ ในระหว่างฟื้นฟูเยียวยาในบ้านพัก 7. หลังจากยื่นข้อเสนอนี้แล้ว อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อยการรณรงค์ยุติความรุนแรงในปีหน้าต้องได้คำตอบ