เตือนอาหารเสริม “ไฟเบอร์รี” ปลอมเลข อย. ขายเกลื่อนว่อนเน็ต อ้างช่วยลดน้ำหนัก ตรวจเจอที่ลำพูนและกำแพงเพชร พบผสมสารอันตรายไซบูทรามีน มีผลข้างเคียงสูง ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำพูน ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลป่าซาง พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากระบุ ไฟเบอร์รี (Fiberry) เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-1-0047 ผลิตวันที่ 19/9/2018 จัดจำหน่ายโดย บริษัท ชะเหลียว จำกัด 131/1 หมู่ 7 ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยมีการโฆษณาสรรพคุณอ้างลดน้ำหนัก ขายเกลื่อนว่อนอินเทอร์เน็ต จึงได้ส่งตรวจวิเคราะห์พบไซบูทรามีนเช่นเดียวกับที่ สสจ.กำแพงเพชรได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อ “ไฟเบอร์รี” (Fiberry) เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-1-0047 จัดจำหน่ายโดย บริษัท ตามหาชะเหลียว จำกัด เลขที่ 131/1 หมู่ 7 ต.นครชุม อ.เมืองฯ จ. กำแพงเพชร ส่งตรวจวิเคราะห์พบสารไซบูทรามีนเช่นกัน
นพ.พูลลาภกล่าวว่า ไซบูทรามีนเป็นสารอันตรายมีผลข้างเคียงสูง หากได้รับในปริมาณมากเสี่ยงเกิดหัวใจวายและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทั้งนี้ จากตรวจสอบพบว่าเป็นการสวมเลข อย.ปลอม เนื่องจากได้ตรวจสอบสถานที่ผลิต ตามที่ระบุบนฉลาก คือ บริษัท เมดดิชาย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เลขที่ 28 ซอยวชิรธรรมสาธิต 51 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ “ไฟเบอร์รี” (Fiberry) เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-1-0047 เม็ดแคปซูลสีทอง และไม่เคยติดต่อหรือได้รับการว่าจ้างให้ผลิตสินค้าจากบริษัท ชะเหลียว จำกัด หรือบริษัท ตามหาชะเหลียว จำกัด แต่อย่างใด ซึ่งเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม
“ขอย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบ อย่าได้หลงเชื่อและซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณครอบจักรวาล เช่น ช่วยลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน กระชับสัดส่วน ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอก กระชับมดลูก ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยกำจัดและขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยให้ความจำดี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีการโอ้อวดเกินจริงเหล่านี้ อย.มักตรวจพบว่ามีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไป ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาได้ และยาบางตัวเป็นยาที่ อย.ยกเลิกการใช้แล้ว เช่น ไซบูทรามีน อาจทำให้ได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยาไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคแต่อย่างใด หากพบความผิดปกติของร่างกาย เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยอาการของโรคจะได้แก้ไขได้ตรงจุด และก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้งขอให้ผู้บริโภคสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ หากไม่แน่ใจว่าเป็นเลข อย.จริงหรือไม่ สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลได้ที่ Oryor Smart Application” นพ.พูลลาภกล่าว