xs
xsm
sm
md
lg

แจงประกาศ สพฉ.ไม่ครอบคลุม “กู้ภัย” จิตอาสาทำซีพีอาร์ได้เหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. ยันประกาศ “หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน” ไม่บังคับกู้ภัย จิตอาสายังทำงานได้ ครอบคลุมเฉพาะหน่วยกู้ชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้น รถฉุกเฉินสีเขียวมะนาวแล้วแต่ความสมัครใจ

จากกรณีกลุ่มองค์กรมูลนิธิกู้ชีพภัยเสนอให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เลื่อนการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติการกู้ชีพที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 120 ชั่วโมง ซึ่งอาจกระทบกับการช่วยเหลือผู้ป่วย เนื้องจากกู้ชีพที่อบรม 120 ชั่วโมง มีจำนวนน้อย

วันนี้ (30 พ.ย.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า ประกาศดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า จะมีผลในช่วงกลางปีหน้า จะมีผลต่อหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยหน่วยปฏิบัติงานเดิมที่มีอยู่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ โดยประกาศมุ่งเน้นเพื่อให้การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ทั้งนี้ ข้อ 4 ของประกาศฉบับนี้ไม่ใช้บังคับ มีความหมายว่า ยังส่งเสริมให้ประชาชนทำงานเป็นจิตอาสา คือ เมื่อประชาชนเห็นใครเจ็บป่วยเดือดร้อนยังสามารถช่วยเหลือได้ ไม่ได้ไปจำกัดการช่วยแต่อย่างใด การช่วยเหลือจะต้องไม่เกินขอบเขตของประชาชน หรือแค่ปฐมพยาบาลได้เท่านั้น ที่สำคัญ ต้องไม่หวังสินจ้างรางวัล และประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้ไปบังคับการกู้ภัย เพราะถ้าเป็นการกู้ภัยจะมี พ.ร.บ. อีกฉบับหนึ่งดูแล ดังนั้นประกาศฉบับนี้จึงไม่บังคับต่อการปฐมพยาบาลและการกู้ภัยแต่จะบังคับต่อการกู้ชีพ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า กรณีเรื่องรถฉุกเฉิน ตามประกาศข้อ 9 รถปฏิบัติการฉุกเฉินจะต้องมีไฟสี แดงน้ำเงิน รถปฏิบัติการฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนภายหลังประกาศนี้ให้ใช้สีเหลืองฉุกเฉินการแพทย์ หรือที่ประชาชนเรียกว่าสีเหลืองมะนาวเป็นหลัก แต่รถปฏิบัติการฉุกเฉินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีการบังคับให้เปลี่ยนสีแต่อย่างใด หากจะเปลี่ยนตามความสมัครใจก็สามารถทำได้ หรือรถปฏิบัติการฉุกเฉินเดิมที่ใช้อาจจะมีสีเดิม แต่มาติดสติกเกอร์สีเหลืองมะนาวเพิ่มเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็สามารถทำได้ จึงขอย้ำว่า การออกประกาศดังกล่าวเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทิศทางเดียวกัน

“ส่วนในเรื่องของการอบรมผู้ปฏิบัติการนั้น ที่ผ่านมามีการอบรมเพียง 24 ชั่วโมง ก็สามารถออกปฏิบัติการได้เลย และใบรับรองนั้นสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต แต่ต่อไปนี้จะมีการเปลี่ยนให้มีการอบรมเป็น 40 ชั่วโมง และมีการเก็บเคส มีการอบรมเพื่อต่อใบรับรองทุก 3 ปี เพราะแม้กระทั่งหมอหรือพยาบาลเองก็ต้องมีการประเมินการทำงานเพื่อให้มีมาตฐานต่อเนื่อง” เลขาธิการ สพฉ. กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีบางกลุ่มคนรวมตัวกันออกมาขับไล่ตนจากตำแหน่งเลขาธิการ ตนเพิ่งเห็นภาพ เรียนด้วยความเคารพว่า ตนก็เป็นจิตอาสาคนหนึ่งที่รักงานการแพทย์ฉุนเฉิน และลาออกจาก รพ.เอกชน มาทำงานตรงนี้ อยากจะบอกว่าตนนั้นมีความตั้งใจที่จะมาช่วยประชาชน อยากให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตเพิ่มขึ้น และเข้าใจว่า ผู้ปฏิบัติการเองก็ต้องการให้มีความคุ้มครอง ตนก็จะมาช่วยการคุ้มครองผู้ปฏิบัติการเหล่านั้น

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ขอย้ำว่า ที่มีการแชร์กันในโซเชียลฯว่า ประกาศนี้หากไม่ผ่านการอบรมกับทาง สพฉ. จะไม่สามารถช่วยชีวิตเบื้องต้นหรือการทำซีพีอาร์ได้นั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะจริงๆ แล้วการทำซีพีอาร์ ประชาชนทั่วไปก็ทำได้ ซึ่ง สพฉ. ก็มีการรณรงค์เรื่องนี้อยู่ แต่ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีการขึ้นทะเบียน ก็ต้องมีการอบรมเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการอบรมต้องเสียค่าใช้จ่าย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า การอบรมก็เป็นการยกระดับ และหากมีคนบอกว่าไม่อยากอบรม เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วเหมาะสมหรือไม่ เพราะการยกระดับก็เป็นการพัฒนาตนเอง ซึ่งในส่วนของการช่วยชีวิตเบื้องต้น หรือการทำซีพีอาร์ รวมไปถึงการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ หรือเออีดีนั้น ก็ทำได้อยู่แล้ว เพราะประชาชนทั่วไปก็ทำได้ จึงอยากให้มีการสื่อสารให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น