xs
xsm
sm
md
lg

ไทยได้สิทธิ VL “ยารักษาตับอักเสบซี” ช่วยนำเข้า-ผลิตยาต้นแบบราคาถูกลง รักษาหายขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทยาต่างประเทศให้สิทธิ VL “ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี" แก่ประเทศไทย ช่วยนำเข้าหรือผลิตยาต้นแบบที่ราคาถูกลงได้ ประหยัดงบประมาณประเทศลง ด้าน แพทย์-เอ็นจีโอห่วงระบบตรวจคัดกรอง ยังต้องพัฒนาเพื่อหาผู้ป่วยให้เจอ จึงเข้าถึงการรักษา

วันนี้ (28 พ.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ว่า การรักษาไวรัสตับอักเสบซี ราคายาจะถูกลงอย่างมาก เพราะขณะนี้บริษัทยาในต่างประเทศ ยอมให้สิทธิโดยสมัครใจ (Voluntary Licensing หรือ VL) แก่ประเทศไทย ดังนั้น บริษัทยาจากอินเดียหรือองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาหรือนำเข้ายาต้นแบบ (Generic) มารักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ ราคายาจะถูกลงอย่างมาก เชื่อว่า ต่อไปอาจจะไม่เกิน 10,000 บาท ต่อการรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ใช้ระยะเวลารักษาเพียงแค่ 84 วัน

การรักษาในอนาคต ถ้าราคายาถูกลง การตรวจหาปริมาณไวรัสและสายพันธุ์ของไวรัสอาจจะไม่จำเป็น แต่ปัญหาอุปสรรคใหญ่คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วยังไม่มีอาการของโรค จะมีมาตรการในการตรวจกรองอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยดังกล่าวได้เข้าสู่การรักษา นับเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะค่าตรวจกรองในปัจจุบันยังมีราคาแพงพอสมควร และถ้าชาวบ้านไม่สามารถตรวจกรองได้ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ในอนาคตยาที่ใช้รักษาจะครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของไวรัส มาตรการในการตรวจกรอง การตรวจหาแอนติบอดี ไม่ได้บอกว่าผู้นั้นมีเชื้ออยู่ในร่างกาย การตรวจหาไวรัสจะยิ่งมีราคาแพงมาก เราอาจจะต้องมีมาตรการในการศึกษาวิจัยว่า วิธีใดจะคุ้มทุนที่สุด ในการที่จะให้ประชาชนไทยเข้าถึงการรักษา ไวรัสตับอักเสบซี
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การที่บริษัทยาต่างประเทศยอมให้ประเทศไทยทำ VL หรือการให้สิทธิโดยสมัครใจถือเป็นเรื่องดี ซึ่งต่างจากการทำ CL หรือ Compulsory Lisensing คือ การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา เรื่องนี้่จะส่งผลให้ยามีราคาถูกลง อย่างยาโซฟอสบูเวียร์ ราคาประมาณ 1,500 บาทต่อเม็ด ยาลาคาทาสเวียร์ 2,500 บาทต่อเม็ด กินคู่กันอย่างละเม็ดต่อวัน และรักษาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ก็เป็นเงินมหาศาล แต่หากราคาถูกลงสมมติเหลือประมาณ 100 กว่าบาทต่อเม็ด ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ส่วนปัญหาคือต่อให้มียา แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าใครควรรับการรักษา ซึ่งการตรวจคัดกรอง 100 คน จะเจอผลบวกไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 1 คน และค่าใช้จ่ายในการตรวจอยู่ที่ 100 กว่าบาท ต้องใช้งบประมาณเท่าไร และต่อให้เจอผลเป็นบวกก็ใช่ว่าจะทราบว่าต้องรักษาเลยหรือไม่ ต้องมีการตรวจระดับลึกอีก จึงเสนอว่าต้องมีการวางแผนการตรวจคัดกรอง ต้องทำอย่างไรจึงจะคุ้มทุนที่สุด
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว
ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่บริษัทยาต่างประเทศให้สิทธิ VL แก่ประเทศไทย ส่งผลให้มียาต้นแบบที่ราคาถูกลงในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ช่วยให้ผู้ป่วยทั้งสามกองทุนสุขภาพเข้าถึงการรักษา โดยการรักษาที่เร็วจะช่วยป้องกันไม่ให้พัฒนาไปเป็นมะเร็งตับในอนาคต อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ประเทศไทยดำเนินการเรื่อง VL ก็ต้องมาคิดและพัฒนาระบบภายในประเทศด้วยว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด คือ ไม่ให้ยาไปตันในจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งตนมองว่าต้องมีการพัฒนาเรื่องของระบบการตรวจคัดกรอง อย่างที่ทราบว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแล้วจะตรวจกลุ่มใดก่อน

“ยกตัวอย่าง ควรตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงก่อนหรือไม่ ยกตัวอย่าง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3 แสนคน ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้หลากหลายทางเพศ มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน หรือผู้ต้องขัง ที่มีความเสี่ยงก่อนหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองใช่ว่าเจอแล้วจะต้องรักษาทุกราย แต่ยังต้องตรวจระดับลึก เพราะที่เจอผลบวกไวรัสซี อาจเป็นเพราะร่างกายเคยสัมผัสเชื้อและกำจัดเชื้อออกจากร่างกายหมดแล้ว หรือยังคงมีเชื้อในร่างกายอยู่ ก็ต้องตรวจลึกลงไปอีก ทั้งนี้ ในช่วงแรกอาจจะต้องมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีผู้ป่วยเท่าไร แต่เมื่อผ่านไป 4 - 5 ปี เมื่อเข้าสู่ระบบมากขึ้น รักษามากขึ้น คนติดเชื้อน้อยลง ก็จะใช้งบประมาณน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้ ยังต้องวางแผนเรื่องของการไม่ให้ยาไปกองในระดับจังหวัดหรืออำเภอ เนื่องจากแพทย์ระบบทางเดินอาหาร (จีไอ) มีจำกัด ตรงนี้จะดำเนินการอย่างไร ต้องมีการวางแผนร่วมในการรักษาระดับจังหวัดหรือไม่” นายอภิวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น