xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เปิดตัวหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิมพ์หนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” เพื่อเผยแพร่ความงามพุทธศิลป์ในพระอารามสำคัญทั่วประเทศ

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ. มอบให้กรมการศาสนา (ศน.) ไปรวบรวมประวัติ ความสำคัญขององค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดินที่มีปรากฏมากมายตามวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย และมีศิลปกรรมหลากหลายสะท้อนความงามในเชิงช่างของยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ศิลปะสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน ล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ในเบื้องต้นนี้ได้เลือกสรรค์พระพุทธรูปสำคัญ จำนวน ๑๐๘ องค์ ที่งดงาม ปรากฏในตำนานเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน รวมถึงพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารแห่งบูรพมหากษัตริย์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ อาทิ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ และพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ พระอรุณ วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก. หลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี พระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

ทำไมจำนวน ๑๐๘ องค์ นายวีระ เล่าที่มาให้ฟังว่า ได้ถือเอาตามเลขมงคลทางพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกาที่ระบุไว้ว่า เป็นมงคลที่พราหมณ์เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งทรงประสูติได้ 5 วัน เหมือนดังเช่นที่ปรากฏในจำหลักลวดลายมงคล 108 ประการ ที่ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

นอกจากนี้ หนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” ได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขียนคำปรารภเพื่อจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งงานพุทธศิลป์ของแผ่นดินไทย และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมสืบต่องานด้านพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร วธ. ต่อไป

“ที่สำคัญ หนังสือ ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน เล่มนี้จะเป็นหลักฐานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญด้วยว่า ประเทศไทยได้มีการสืบทอดพระพุทธศาสนามากว่า 1 พันปี และได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังก่อให้เกิดการหล่อหลอมทางศิลปวัฒนธรรมที่ปรากฎในรูปสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัยด้วย อีกอย่างหนึ่งพระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ทั่วประเทศแสดงให้เห็นถึงการไม่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด เนื่องจากพระพุทธรูปเป็นหลักฐานที่ปรากฏอยู่และสืบทอดมาให้เราได้สักการบูชา ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาที่มีการรังสรรค์พระพุทธรูปเหล่านี้นับตั้งแต่สมัยทวารวดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และในโอกาสใกล้วันขึ้นปีใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยไปกราบสักการะ ๑๐๘ องค์พระปฏิมา ตามวัดวาอารามต่างๆ หรือวัดใกล้บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว” นายวีระ กล่าว

ด้าน นายสมชาย ณ นครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร กล่าวเสริมว่า พุทธศิลป์ในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 เมื่อมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านคาบสมุทรอินเดียมายังสุวรรณภูมิ ในภาคใต้ของไทยจะเห็นว่ามีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในศิลปะทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์หลากหลายมากมาย สิ่งที่พบเห็นคือเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 - 12 มีทั้งศาสนสถานและศิลปกรรมที่เป็นเทวรูปและพระพุทธรูป เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาก็ได้มีการสร้างสรรค์งานด้านพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปขึ้นมากมาย มีการแพร่กระจายจากภาคกลางถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือด้วย และอีกส่วนหนึ่งในภาคใต้ เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยทวารวดีก็จะมีอิทธิพลของศิลปะเขมร ช่วงนั้นศิลปะทวารวดีเริ่มมีการควบรวมกับศิลปะเขมร จนมาถึงศิลปะลพบุรี ล้านนา และ สุโขทัย จึงเห็นได้ว่าแม้แต่อิทธิพลของล้านนาก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียที่ผ่านมาทางพุกามหรือพม่า ทำให้เกิดศิลปะที่งดงาม ยกตัวอย่าง“พระสิงห์” พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่

นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า การจัดพิมพ์หนังสือ
“๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” ซึ่งพระพุทธรูปเหล่าล้วนเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีพลังอานุภาพ ความสงบ ศานติสุข ให้บังเกิดความร่มเย็นในแผ่นดินไทยอย่างถาวรมั่นคง กล่าวได้ว่า “แผ่นดินไทย คือ แผ่นดินธรรม”

สำหรับหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูป คู่แผ่นดิน” นี้ ประชาชน ผู้สนใจ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดในรูปแบบ E-book ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th และเว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th




กำลังโหลดความคิดเห็น