xs
xsm
sm
md
lg

คัดกรองโรคพาร์กินสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ส่วนใหญ่จะพบแต่ในผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่มักเป็นในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี จากการศึกษาในชุมชนในกรุงเทพฯ ในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า มีโรคพาร์กินสัน ร้อยละ 0.7 และอาการ พาร์กินสัน ร้อยละ 1.95 โดยพบมากขึ้นเมื่ออายุยิ่งมากขึ้น โดยผู้ที่มีอาการพาร์กินสัน ร้อยละ 36 เกิดจากโรคพาร์กินสัน ร้อยละ 36 เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 22 เกิดจากยา และร้อยละ 5 เกิดจากอุบัติเหตุที่สมอง และพบว่า มีเพียงส่วนน้อย คือ เพียงร้อยละ 8 ของคนที่มีอาการพาร์กินสัน และร้อยละ 22 ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เท่านั้น ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์มาก่อน

ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมือสั่น ทำอะไรช้าลง เดินลำบากก้าวขาไม่ค่อยออก
เวลาก้าวออกแล้วจะเดินก้าวเท้าสั้นๆ ซอยเท้าถี่ กลับตัวลำบากเวลาเดินและหยุดเดินไม่ได้ทันที การทรงตัวลำบาก หลังคู้งออาจเกิดการหกล้มได้ง่าย เวลานอนจะพลิกตัวลำบาก แขนขาเกร็งแข็ง จนบ่อยครั้งทำให้เกิดอาการปวด หรืออาจเกิดตะคริวขึ้นได้ การใช้มือไม่คล่องเหมือนเก่า เช่น กลัดกระดุม เปิดฝาขวดน้ำ เขียนหนังสือ เป็นต้น ใบหน้าดุเฉยเมย ไม่ค่อยกะพริบตา พูดเสียงเบาลง การกลืนไม่คล่องเหมือนเดิม อาจมีน้ำลายไหล หรือสำลักง่ายขึ้น นอกจากอาการของแขนขาและการเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีอาการของอวัยวะส่วนอื่นด้วย เช่น คิดช้าลง ความจำไม่ดี อารมณ์ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท ฝันบ่อยๆ ท้องผูก เป็นต้น

เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และอยู่ในชุมชน ที่บ้าน มีการศึกษาพบว่า แพทย์ทั่วไปตรวจอาการของโรคนี้ได้ถูกต้องเพียงไม่ถึงร้อยละ 60 แต่โอกาสที่ผู้ป่วยจะได้ไปตรวจกับ แพทย์เฉพาะทางทำได้ค่อนข้างยากในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนั้น ประชาชนมักไม่ตระหนักถึงอาการของโรคนี้ เพราะคิดว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดผลเสียจากตัวโรคตามมา เช่น หกล้ม กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น การคัดกรองเบื้องต้นอย่างง่ายโดยตัวเอง ครอบครัว หรือบุคลากรสาธารณสุข สามารถทำให้ค้นพบผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยวิธีการคัดกรองคือ ตรวจเช็กอาการใน 11 ข้อ ตามแบบคัดกรองอาการโรคพาร์กินสันหากมีอาการดังกล่าว 5 ข้อขึ้นไป ควรไปพบแพทย์ แต่หากอาการน้อยกว่า 5 ข้อ อาจประเมินเป็นระยะด้วยตนเอง

หากพบว่า คะแนนตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป ที่ตอบว่าใช่ ถือว่าได้ผลบวก ควรพบแพทย์เพื่อทำการ
วินิจฉัยโรค

คำถาม           ใช่ /ไม่ใช่/                     รวม
1. มือหรือขาของท่านเคยมีอาการสั่น
2. ท่านรู้สึกลุกจากเก้าอี้ลำบาก
3. ท่านเดินก้าวเท้าสั้นๆ และเดินซอยเท้าถี่
4. แขนของท่านแกว่งน้อยลงเวลาเดิน
5. หลังของท่านคู้งอเวลาเดิน
6. ท่านหมุนตัวกลับ เวลาเดิน ได้ลำบาก
7. เคยมีคนบอกว่าเสียงของท่านเบาลงกว่าเมื่อก่อน
8. ท่านพลิกตัวได้ลำบากเวลานอน
9. ท่านเขียนหนังสือช้าลงหรือเขียนหนังสือตัวเล็กลงกว่าเก่า
10. ท่านทำอะไรได้ช้าลงกว่าเมื่อไม่นานมานี้ เช่น การหวีผม แต่งตัว อาบน้ำ
11. ท่านรู้สึกว่าการกลัดกระดุมหรือเปิดฝาขวดน้ำทำได้ลำบากกว่าเก่า

****

กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช

#จัดงาน “Siriraj Blade Runner 2018” ในวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2561 เวลา 04.30 - 09.00 น. บริเวณใต้สะพานพระราม 8 รับสมัครในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ทางออนไลน์ https://sites.google.com/site/sirirajbladerunner รายได้สมทบทุนกองทุน “ศิริราชเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสทางการผ่าตัด” หรือติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก Siriraj Blade Runner สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีมงานวิ่งฯ โทรศัพท์ 0 2419 9981

#จัดงาน “เดิน-วิ่ง 101 ปี อายุรศาสตร์ศิริราช” ในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 04.30 - 08.30 น. บริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราช ปิมหาราชการุณย์ เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ทางออนไลน์ที่ www.101medicinerun.com รายได้สมทบจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ อาคารนวมินทร บพิตร ๘๔ พรรษา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีมงานวิ่งฯ โทรศัพท์ call center 0 2111 2201
กำลังโหลดความคิดเห็น