xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จิตเวชนครพนมฯ นำร่องติด “คิวอาร์โค้ด” บนซองยา ลดกินยาผิดจนอาการกำเริบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รพ.จิตเวชนครพนมฯ นำร่องทำ “คิวอาร์โค้ด” บนซองยาจิตเวช สแกนผ่านสมาร์ทโฟนได้ข้อมูลยา วิธีการกิน ข้อห้ามต่างๆ ทั้งแบบข้อความและเสียง ช่วยผู้ป่วย ญาติเข้าใจมากขึ้น การรักษาเป็นไปตามแผน ลดเสี่ยงอาการกำเริบจากการกินยาไม่ถูกต้อง ผลประเมินพึงพอใจสูง เตรียมขยายให้ครบยาทุกรายการ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่บ้านแล้ว มีอาการกำเริบและต้องกลับมารักษาซ้ำอีก เนื่องจากกินยาไม่ถูกต้อง มีหลายสาเหตุคือ ผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วยและไม่ยอมกินยา อ่านข้อมูลยาที่หน้าซองยาไม่ออก หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ การได้ข้อมูลคำอธิบายจากเภสัชกรเพียงครั้งเดียว จึงกินยาไม่ถูกต้อง รวมถึงตัวโรคที่เป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง มีผลต่อความคิด ความจำการรับรู้ของผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชบางรายเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาในด้านการอ่านทำให้ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามแผนการรักษาของแพทย์ กรมฯ จึงเร่งแก้ปัญหาโดยมีนโยบายให้นำคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาใช้กับระบบยาจิตเวช เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ และให้ข้อมูลเรื่องยาแก่ผู้ป่วยและญาติด้วยวิธีการที่ง่ายขึ้นทั้งเรื่องตัวยา ฤทธิ์ของยา วิธีการกิน อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ และข้อห้ามต่างๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาได้ผลไม่ดี เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ป่วยกินยาได้ถูกต้องตามแผนการรักษาของจิตแพทย์ ขณะนี้เริ่มแห่งแรกแล้วที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งคนไทยและชาวลาวใช้บริการวันละประมาณ 300 คน
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.ขิตเวชนครพนมราชนครินทร์ / ซองยาจิตเวชที่ใช้ระบบคิวอาร์โคดอ่านข้อมูล นำร่อง รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายเภสัชกรรมของ โรงพยาบาลได้ทยอยจัดทำคิวอาร์โค้ดยาจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่กำกับในฉลากติดที่ซองยา เริ่มจากยาที่ใช้บ่อยที่สุดก่อน 17 รายการ เช่น ยารักษาโรคจิตเภท ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยารักษาโรคซึมเศร้า โดยจะสแกนคิวอาร์โคดติดที่ฉลากยาทุกซอง และให้รายละเอียดยาแต่ละตัวใน 2 รูปแบบ คือ เป็นข้อความสำหรับอ่าน และเป็นคลิปเสียง เพื่อให้ผู้มีปัญหาสายตาเลือกฟังได้ โดยมีทั้งสำเนียงภาคกลางและภาษาถิ่นอีสาน ทำให้ผู้ป่วยจากลาวก็สามารถฟังเข้าใจได้ ซึ่งเภสัชกรจะให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติทุกคนก่อนจ่ายยา สำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ด ทำได้โดยใช้สมาร์ทโฟนสแกนที่ซองยาผ่านแอปพลิเคชัน “ไลน์” หรือเครื่องอ่านคิวอาร์โค้ดก็จะปรากฏข้อมูลของยาชนิดนั้นทันที ผู้ป่วยและญาติสามารถศึกษารายละเอียดการใช้ยาได้ด้วยตนเอง และสามารถเฝ้าระวังอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยใช้ยาอย่างมั่นใจและต่อเนื่อง และเพิ่มความสะดวกให้บุคลากรสาธารณสุขที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชนในการติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงจากยาที่ผู้ป่วยใช้ได้อย่างดี

“จากการประเมินผลเบื้องต้นพบว่า ทั้งผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ปกครองผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มีความพึงพอใจสูงกว่าร้อยละ 95 เนื่องจากได้รับความสะดวก สามารถเปิดดูข้อมูลได้ตลอดเวลา และรู้จักชื่อยาที่กิน มีความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยา และความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้การรักษาได้ผลดี รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ระหว่างที่กินยา ข้อควรระวังในการเก็บรักษาตัวยาให้คงประสิทธิภาพต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการดีขึ้นมาก โดยปัญหาในการรักษาที่ผ่านมานั้นเด็กมักกินยาไม่ครบถ้วน สาเหตุเกิดมาจากความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่กลัวว่ายาที่ใช้รักษา เช่น ยาเมทิลเฟนนิเดท จะไปกดหรือบีบสมองของเด็ก แต่หลังจากนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้แล้วผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้องและดูแลการกินยาของลูกให้เป็นไปตามแผนการรักษาของจิตแพทย์เป็นอย่างดี ทั้งนี้ รพ.จะเร่งดำเนินการพัฒนาคิวอาร์โคดให้มีทั้งภาพประกอบ ข้อความ และเสียงในยาจิตเวชทุกตัว ที่มีกว่า 200 รายการ ยาแต่ละตัวใช้เวลาฟังเพียง 2 นาที สามารถฟังซ้ำไปซ้ำมาจนเข้าใจดีขึ้น หากยังมีข้อสงสัยสามารถคุยกับเภสัชกร ทางหมายเลข 0-4253-9032 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น