xs
xsm
sm
md
lg

อุบัติเหตุรถชน “คนไทย” มองเรื่องวิทย์มากกว่า “ไสยศาสตร์” แนะลงทุน 5 เรื่องลดเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปภ. เผย ปี 59 คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 1.5 หมื่นราย พิการรายใหม่ 5,000 ราย ขณะที่ผลสำรวจพบ “คนไทย” มองอุบัติเหตุเป็นเรื่อง “วิทย์” มากกว่า “ไสยศาสตร์” ปัญหามาจาก ถนน คน รถ สิ่งแวดล้อม ชี้ “คมนาคม” หน่วยงานหลักต้องรับผิดชอบแก้ปัญหา แนะลงทุน 5 เรื่องป้องกันอุบัติเหตุ

วันนี้ (17 พ.ย.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกรรมการเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แถลงข่าว “สัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ลงทุนเพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ทรัพย์สิน และความพิการ โดยสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย จากข้อมูลใบมรณบัตรปี 2559 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 15,488 ราย มีผู้พิการรายใหม่ที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนอีกกว่า 5,000 ราย หรือทุกๆ วันจะมี 42 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิก และมีอีก 15 ครอบครัว ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใประเทศรวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เน้นแก้ปัญหา 5 เสาหลัก คือ การบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร และช่วยเหลือรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งที่ผ่านมาได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนใน 5 ประเด็น คือ ดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ใบอนุญาตขับรถ รถโดยสารสาธารณะ และการคาดเข็มขัดนิรภัย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ กล่าวว่า จากการสำรวจอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของใคร ระหว่างวันที่ 5 - 14 ต.ค. 2560 จำนวน 1,196 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 76.7 เคยเกิดอุบัติเหตุกับตัวเอง ร้อยละ 91.4 เชื่อเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน มีเพียงร้อยละ 32.1 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ถือเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ได้ว่า คนไทยเปลี่ยนความเชื่ออุบัติเหตุจากเรื่องเวรกรรมมาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คือ สภาพถนน คน รถ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จากเดิมที่ปี 2552 ยังสำรวจว่าเป็นเรื่องเวรกรรม โดยร้อยละ 96.6 เห็นว่า รัฐควรลงทุนในจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก และควรลงทุนเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนในรูปแบบสถาบันวิชาการในการตรวจสอบ และร้อยละ 63.9 ระบุว่า การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม รองลงมาคือ รัฐบาล คสช. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงสาธารณสุข ตามลำดับ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน รายงานและดูแลผู้บาดเจ็บ อาจไม่เพียงพอในการลดการเกิดอุบัติเหตุ ความสำคัญในการแก้ปัญหา คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบาย อุปสรรคปัญหา และร่วมเสนอนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยการสัมมนาครั้งนี้เป็นปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” ในวันที่ 6 - 7 ธ.ค. 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการไบเทค บางนา มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1. การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน 2. ประชารัฐเพื่อสังคม กับความปลอดภัยทางถนน 3. ลงทุนเพื่อสังคมร่วมใจป้องกันภัยทางถนน 4. มิติใหม่บังคับใช้กฎหมาย Road Safety 4.0 5. รถพยาบาลปลอดภัย 6. มิติทางสังคมกับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และ 7. ระบบใบขับขี่กับความปลอดภัยทางถนน

นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดี ปภ. กล่าวว่า ในปีนี้การสัมมนาจะเน้นเรื่องการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในเสาหลักทั้ง 5 ด้าน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องงบลงทุนเท่านั้น ยังหมายถึงการให้ความสำคัญทั้ง 5 ด้านนี้ด้วย คือ 1. ถนนปลอดภัย เช่น ถนนเป็นหลุมบ่อหรือไม่ ซึ่งกรมทางหลวงก็มีการปรับปรุงเสมอมา การลงทุนก็อาจเน้นเรื่องของวิศวกรรมโครงสร้าง เช่น เน้นเกือกม้า เพื่อลดจุดตัดบนถนน หรือปรับ 2 ข้างทางถนน 2. ยานพาหนะ กรมการขนส่งก็มีการยกระดับเรื่อยมา ก็ต้องดำเนินการอีก โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะต่างๆ การตรวจสอบสภาพรถ การติดจีพีเอส เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ 3. ผู้ใช้รถใช้ถนน คือ การบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องมีการปรับเพิ่มบทลงโทษ หรือจัดอุปกรณ์เครื่องมือให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะสัดส่วนถือว่าน้อยกว่าผู้ใช้นถใช้ถนนมาก ต้องมีอุปกรณ์ช่วย เช่น การตรวจจับความเร็ว การวัดระดับแอลกอฮอล์ 4. การช่วยเหลือรักษา เช่น ทำให้เข้าถึงพื้นที่เร็วขึ้น ฝึกสอนประชาชนในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เพราะหากทำผิดอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น และ 5. ด้านการบริหารจัดการ คือ ต้องขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นให้เห็นควมมสำคัญของปัญหา เพื่อหาทางออกแก้ไข เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น